วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กขี้กลัว แก้ไขอย่างไร

 ความกลัวของเด็กมีให้ผู้ใหญ่เห็นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงขวบ ที่เห็นชัดก็คือ กลัวการพลัดพราก หรือเรามักจะเรียกว่า อาการติดแม่ เมื่อโตขึ้นมามีการเรียนรู้มากขึ้น รู้ประสามากขึ้น ก็มีความกลัวหลากหลายขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดความกลัวก็แตกต่างกันไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการกลัวที่มากจนเกินไป ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ หรือถ้าโตขึ้นไปก็เป็นปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมทีเดียว

  เรามารู้จักความกลัวของเด็กๆ เพื่อแก้ไขไม่ให้เด็กกลัวมากเกินไป และให้กลัวในบางสิ่งบางอย่างกันค่ะ

กลัว...พฤติกรรมปกติของมนุษย์
 มนุษย์เราต้องมีความกังวลหรือความกลัว เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย ธรรมชาติของเด็กจะกลัวสิ่งต่างๆ สูงสุดในช่วง 3-5 ปี และจะมีพัฒนาการเรื่องความกลัวที่เป็นไปตามช่วงวัย การกลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด ในเด็กวัยนี้ ก็ถือว่าเป็นความกลัวตามปกติ แต่ถ้าความกลัวมีมากเกินไปและติดตัวจนเข้าสู่วัยรุ่นก็ก่อให้เกิดผลเสียอื่นๆ ตามได้


กลัว..อะไรบ้าง
 มานึกถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆ มีอาการกลัวสารพัด ทั้งกลัวความสูง กลัวสัตว์บางชนิด กลัวความมืด กลัวผี เด็กๆ ก็ไม่ต่างกัน มีความกลัวแตกต่างกันออกไป
 กลัวการแยกจาก จะพบได้บ่อยมากในเด็กวัยนี้ เป็นความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้เจอพ่อแม่ จึงทำให้มีปัญหาติดแม่ ไม่ยอมไปโรงเรียน ถ้าเป็นมากเด็กจะมีอาการทางกายเช่น ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน หรือปวดท้องบ่อยๆ
 กลัวคนแปลกหน้า นับเป็นเรื่องธรรมดาของวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าโตขึ้นมาแล้วยังมีปัญหานี้อยู่ เด็กจะมีลักษณะไม่พูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าแสดงออก ไม่ค่อยมีเพื่อน เป็นต้น
 กลัวบางสิ่งบางอย่าง เช่น กลัวสุนัข กลัวหุ่นแมสคอต กลัวเสียงฟ้าร้อง กลัวผี กลัวความมืด เป็นต้น


สาเหตุที่ทำให้...กลัว
1. การพูดขู่ การหลอก หรือทำให้เด็กตกใจอยู่บ่อยๆ มีความรู้สึกฝังใจกับเรื่องนั้นๆ จากสาเหตุนี้คนที่เป็นต้นเหตุคือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั่นเอง
2. พ่อแม่ หรือคนที่อยู่ใกล้ชิด มีอาการวิตกกังวล หรือเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นเป็นประจำ เช่น คุณแม่กลัวแมลงสาป เมื่อเห็นแมลงสาปทีไร ต้องวิ่งหนี กระโดดหนี หรือร้องเสียงดังทุกครั้ง
3. มีประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างมาก หรือกระทบใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกตีอย่างแรง ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว  หรือได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก่อนจึงทำให้รู้ไม่ปลอดภัย ต้องคอยระแวง ระวังไว้ก่อน
4. ขาดความอบอุ่น ความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่มีการฝึกทักษะด้านต่างๆ ขาดความมั่นใจ
5. พื้นฐานอารมณ์ที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เด็กบางคนนิ่งๆ ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก บางคนกล้าเจออะไรใหม่ๆ ก็ให้ความสนใจอย่างรวดเร็ว


เปลี่ยนกลัว... ให้กล้า
 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างดูเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา และวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่เด็กๆ ก็เปรียบเสมือไม้อ่อน ที่ยังสามารถดัดได้ แก้ไขได้ แม้จะต้องอาศัยความใจเย็น และอดทนของผู้ใหญ่ที่คอยให้ความช่วยเหลือเป็นสำคัญนั่นเอง
  - ปรับความคาดหวัง พ่อแม่ ไม่ควรคาดหวังลูก ให้มีความกล้าเหมือนเด็กคนอื่น หรือเหมือนที่ตนเองตั้งใจ เพราะความคาดหวังนั้นจะกลายเป็นความกดดันลูก และทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองได้ ข้อที่ควรจำเป็นอันดับแรก คือ เข้าใจธรรมชาติของลูกว่ามีความกลัวมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ
  - ไม่พูดข่มขู่ ทั้งคำพูดและท่าทางที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกอย่างรุนแรงจะไปเพิ่มความหวาดกลัวให้ลูกดังนั้นจึงใช้วิธีการพูดที่อ่อนโยน การใช้เหตุผลที่เหมาะกับวัยในการพูดคุยกับลูกมากกว่า รวมถึงการพูดหลอก พูดขู่ต่างๆ เช่น “ไม่กินข้าวเดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ” “ดื้อมากเดี๋ยวให้หมดฉีดยาเลย” “ไม่หลับตานอนมืดๆ แล้วตุ๊กแกจะมากินตับ” ประโยคเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กเกิดความกลัว และมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น
  - ปลอบใจลูกเสมอ เมื่อลูกเกิดความกลัว ต้องปลอบโยนบอกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นๆ
  - ฝึกลูกช่วยเหลือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป และในด้านความคิด ต้องหมั่นให้ลูกตัดสินใจทำด้วยตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกเกิดความมั่นใจ 
  - ไม่เร่งจนเกินไป การลดความหวาดกลัวของเด็ก ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรตั้งระยะเวลาเอาไว้ หรือจะให้ลูกหายกลัวภายในกำหนดของผู้ใหญ่ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะการปรับตัวไม่เท่ากัน และต้องให้ลูกเผชิญสิ่งที่ลูกกลัวทีละน้อย คอยให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ


 ความกลัวก็ใช่ว่าจะเป็นผลเสียไปซะหมด เพราะการกลัวบางอย่างเป็นผลดี เช่น กลัวอันตราย จึงต้องระมัดระวัง ซึ่งเรื่องเช่นนี้พ่อแม่ต้องสอนแบบเด็ดขาด คือ ใช้ลักษณะคำสั่งห้ามถ้าสิ่งนั้นๆ จะทำให้เกิดอันตราย เช่น การเล่นปลั๊กไฟ หรือของมีคมต่างๆ เป็นต้น ส่วนการกลัวอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ควรมีไว้ประจำใจคือ กลัวบาป ถ้าคนในสังคมกลัวบาป ก็จะช่วยกันสร้างความดี สังคมเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น

 
ทําอย่างไรดี
เมื่อลูกขาโก่ง
 

ทําไมเบบี๋จึงขาโก่ง?
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเบบี๋คลอดออกมา คุณแม่หลายท่านอาจสังเกตเห็นว่าขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อยทั้งสองข้างหรือข้างเดียว หรือปลายเท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งอาการนี้มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด สาเหตุที่ทําให้ลูกขาโก่งอาจเกิดขึ้นเพราะตอนที่อยู่ในท้องแม่ในระยะสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเด็กใหญ่ขึ้นจึงต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จํากัด ทารกส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด

ในช่วงแรกเกิดถึงขวบปีแรก เบบี๋จะมีอาการขาโก่ง ซึ่งอาการนี้ จะค่อยๆ คลายออกตามธรรมชาติและการเจริญเติบโต เมื่อลูกเริ่มใช้เข่าหัดคลานหรือหัดเดิน ก็จะทําให้ข้อสะโพกแข็งแรงขึ้นและกระดูกจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ตรงขึ้น ทําให้อาการขาโก่งหรือเข่าโค้งปรับเข้าสู่ปกติได้เองเมื่อลูกอายุ 18-24 เดือน ดังนั้น ถ้าลูกขาโก่งในช่วงทารกถือว่าเป็นภาวะปกติทางสรีระร่างกายค่ะ

สังเกตขาของเบบี๋..ขาโก่งแบบนี้ปกติไหม?อาการขาโก่งของเบบี๋ คุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ โดยถ้าเป็นอาการขาโก่งปกติมักจะเป็นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่าๆ กันทั้งขาซ้ายและขาขวา หากคุณแม่คอยสังเกตไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าขาของลูกจะตรงขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มโตขึ้นค่ะ

ทั้งนี้ ถ้าเป็นอาการขาโก่งตั้งแต่แรกเกิดในลักษณะนี้ คุณแม่ไม่จําเป็นต้องดัดขาเพื่อให้ขาของลูกตรง เพราะขาของลูก จะตรงเป็นปกติได้ตามวัยอยู่แล้ว

อีกสาเหตุหนึ่งของอาการขาโก่งของเบบี๋ เกิดจากความผิดปกติหรือผิดรูปของกระดูก โดยคุณแม่สามารถสังเกตขาของลูกได้ ดังนี้
• ขาทั้ง 2 ข้าง มีความโก่งไม่เท่ากัน
• ขาโก่งหรือบิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ตรงขึ้นตามอายุ
• ขาโก่งมากในบางตําแหน่ง โดยมุมที่โก่งหักเป็นมุมแหลม
• ขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ย (ต้องวัดส่วนสูงและเทียบกับเส้นค่าเฉลี่ยตามวัย)

นอกจากนี้ โรคกระดูกบางโรคอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม และถ้าลูกตัวอ้วนมากก็ทําให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคกระดูกงอหรือขาโก่งได้ง่าย ซึ่งคุณแม่ต้องสังเกตสัดส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ลูกประกอบด้วย ดังนั้น หากลูกมีอาการขาโก่งไม่หายตามวัยและคุณแม่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพื่อจะได้รักษาอาการได้ง่าย เพราะหากพบว่า ลูกมีอาการผิดปกติของกระดูกเมื่อลูกโตแล้ว การรักษาจะยากยิ่งขึ้นเพราะกระดูกของลูกเริ่มแข็งขึ้นแล้วค่ะ
 
ป้องกันไม่ให้เบบี๋ขาโก่งได้อย่างไร?
หากลูกขาโก่งไปตามพัฒนาการของขา คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลและปล่อยไปตามธรรมชาติดีที่สุด แต่คุณแม่สามารถ ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยขาโก่งมากขึ้นหรือกระดูกขาผิดรูปได้ ดังนี้

• ให้ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถ รักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีจะทําให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาจะโก่งหรือถ่าง เนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ โดยวิตามินดีจะมีอยู่ในอาหาร เช่น นม ตับสัตว์ ไข่แดง เป็นต้น และคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้าบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยให้แข็งแรง

• การดัดหรือยืดขาทารกเบาๆ หลังอาบน้ำอาจไม่เกี่ยวกับการโก่งหรือไม่โก่งของขา แต่การดัดหรือยืดขาของลูกเบาๆ จะช่วยให้ลูกได้ยืดเส้นยืดสาย ทั้งนี้คุณแม่อาจใช้วิธีการนวดคลึง เบาๆ บริเวณขาของลูก ก็จะช่วยให้ขาของลูกแข็งแรงและลูกก็จะสบายตัวยิ่งขึ้นค่ะ

• นอกจากการนวดหรือดัดขาของลูกแล้ว คุณแม่ต้องคอยจัดท่านั่งและท่านอนของเบบี๋ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง เพื่อจะไม่ทําให้ เกิดการโค้งงอหรือการผิดรูปของกระดูก
T i p s :  การยืดและนวดขาให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทําได้ง่ายๆ ดังนี้
 
• นวดขาลูกทีละข้าง โดยจับขายกขึ้นแล้วใช้มืออีกข้างจับรอบขา นวดคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากต้นขาค่อยๆไล่ไปปลายเท้า แล้วใช้หัวแม่มือกดฝ่าเท้าลูกเบาๆ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึงขาลูกไปมาเบาๆ โดยให้สองมือของคุณแม่สวนทางกัน เริ่มจากหัวเข่าไล่ไปจนถึงข้อเท้า คลึงไปมา 5-10 ครั้ง

• คุณแม่อาจใช้มือจับขาของลูกและเหยียดให้ตรง หลังอาบน้ำ หรือถ้าเบบี๋อายุ 2 เดือนขึ้นไปแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าถีบจักรยานให้ลูกได้ โดยให้ลูกนอนหงาย คุณแม่นั่งอยู่ตรงปลายเท้าของเบบี๋ แล้วจับที่น่องขาขวาและขาซ้ายข้างละมือ จากนั้นค่อยๆ งอเข่าดันไปที่ท้องหรือหน้าอก แล้วเหยียดออก ทําทีละข้างก่อน 5-10 ครั้ง แล้วจึงทําพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งท่านี้จะช่วยให้ข้อเข่าของเบบี๋แข็งแรง

• หากเบบี๋อยู่ในวัยที่สามารถคลานหรือเริ่มหัดเดินแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าแยกขาให้ลูกได้ โดยคุณแม่นั่งด้านหลัง ลูก แล้วจับขาลูกทั้งสองข้างค่อยๆ แยกออกด้านข้าง จากนั้นให้ลูกโน้มตัวไปด้านหน้า โดยที่คุณแม่ยังจับขาไว้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้นและช่วยดัดขาให้ตรงขึ้นด้วย

• ในขณะที่นวดหรือยืดขาของลูก หากลูกร้องหรือขาแดง แสดงว่าคุณแม่ออกแรงมากเกินไปจนทําให้ลูกเจ็บ ให้หยุดนวดหรือนวดให้เบาลงค่ะ

นิทานข้างหมอนลูก


ศึกมังฉงาย

  
   มังฉงายวางกล่องเปล่าลงตรงหน้าตู้เสื้อผ้า วันนี้จะหาเสื้อไปบริจาค เพราะอาจารย์สอนมาว่าความโลภอย่างละเอียดนั้น ก็คือการที่เราติดพันผูกใจอยู่กับทรัพย์ของตนมากจนเกินไป เช่น เสื้อผ้านี่แหละ เป็นต้น ให้รู้สึกอยากจะหัดเลิกความติดพันนี้เสียบ้าง ไม่น่ายาก เรียนแล้วก็ต้องลองทำ


   หยิบเสื้อที่ไม่เคยใส่มานานออกมาชูดู เอ๊ะ ตัวนี้ก็สวย ยังดูดีด้วย เอาไว้ใส่ได้ เก็บก่อนการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรี่อยๆๆๆๆ ในที่สุด มังฉงายก็ยกกล่องเปล่าไปเก็บ
  
   ต่อๆ มา ตอนเช้าจะรีบไปทำงาน เปิดตู้ออกมาเจอแต่ตัวที่วันนี้จะไม่ใส่ อยากใส่ตัวที่หาไม่เจอ หัวมุดไปมุดมาอยู่ในตู้จนเหงื่อซก อ้าวตัวนี้ก็มีด้วยเหรอ ลืมไปแล้ว แต่ไว้ก่อนยังไม่ใช่ตัวที่อยากใส่ พอดีเจอตัวที่อยากใส่ก่อนหน้ามืดชั่วอึดใจเดียว


    การณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดมังฉงายก็เบื่อความเต็มตู้อยากบริจาคอีก แต่ก็ต้องยกกล่องเปล่าไปเก็บเหมือนเดิมอีก 2 ครั้ง ให้นึกตะขิดตะขวงใจขึ้นมากับคำว่า โลภแบบละเอียดของอาจารย์ เอ..มันชักทำยาก

  
   อย่ากระนั้นเลย เสียชื่อมังฉงาย คราวนี้เอาใหม่ โทรศัพท์ไปหาเกลออ้อน บอกให้ช่วยสงเคราะห์มารับกล่องเสื้อผ้าไปไว้บ้านนะเวลาไปต่างจังหวัดช่วยติดรถไปแจกคนยากจนให้ด้วย เกลออ้อนใจดีรับคำ บอกว่าไปเดี๋ยวนี้เลย นายรีบยกลังลงมา

  
   นัดกันเสร็จ มังฉงายยกทัพไปที่ตู้เสื้อผ้า ตั้งกติกามารยาทว่า เอาเสื้อที่ทั้งปีมายังไม่เคยใส่เลยนะแหละไป ต้องเชื่อใจการตัดสินใจตอนเช้ากันหน่อยซี่ นี่ปีหนึ่งแล้วยังไม่เคยอยากใส่ แล้วมันจะไปอยากกกกก ตอนไหนเนี่ย

  
   รีบๆ หน่อย มังฉงายบอกตัวเอง ก่อนที่ผู้คุมวิญญาณจะมาชักใยความห่วงหาอาวรณ์อีก ดูแล้วห้ามคิดว่ายังสวยอยู่ เดี๋ยวไม่ได้ไป เอากฎข้อเดียวคือ ปีนี้ไม่เคยใส่ หยิบแล้วลงกล่อง ไม่นานก็เต็มกล่อง รีบปิดกล่องแล้วยกลงข้างล่าง ยืนแป๊บเดียวรถของเกลออ้อนก็เฉี่ยวมารับของเสร็จก็รีบไป จะกลับไปดูการแข่งกีฬา


   มังฉงายกลับขึ้นไปอาบน้ำสระหัวอยู่นาน รู้สึกโล่ง ดีใจ พิชิตตู้เสื้อผ้าสำเร็จ เปิดตู้เสื้อผ้า ลิ้นชักมีเสื้อผ้าวางพอเหมาะ ไม่ล้นและไม่ยุ่งดูดีจัง ราวแขวนเสื้อก็สบายๆ ไม่แน่น ดูความรู้สึกตัวเองก็เฉยๆ ไม่อาลัยอาวรณ์อะไร เพราะจำไม่ได้ว่าตัวไหนไปมั่ง ช่างมันเถอะ จำไม่ได้ก็ดีแล้ว มังฉงายยิ้มเท่ให้ตัวเองเป็นรางวัลแก่ผู้พิชิตในศึกครั้งที่ 4 นี้

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554



ชวนลูกเล่นกีฬาแบบไม่ต้องบังคับ



ลูกน้อยวัย 3-6 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาการกำลังเจริญเติบโต ซึ่งการออกกำลังกายนอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อต่างๆ ให้แข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมทักษะด้านอื่นของวัยเยาว์ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยค่ะ


ปลูกฝังลูก...รักการออกกำลังกาย
โดยธรรมชาติของเด็กวัยนี้มักมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดได้ไม่นาน ดังนั้นการตั้งกฎเกณฑ์ว่าวันหนึ่งต้องออกกำลังกายอย่างน้อยกี่ชั่วโมง หรือต้องออกกำลังกายแบบนั้นแบบนี้สิดี คงเป็นเรื่องยาก มีแต่จะทำให้ลูกไม่อยากออกกำลังกาย และรู้สึกไม่มีความสุขไปเลยก็ได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้นำที่ดีที่จะพาลูก หรือดึงความสนใจให้ลูกหันมาเล่นกีฬา ด้วยกิจกรรมง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1. สร้างกิจกรรมสนุกๆ กับเพื่อนบ้าน หรือกับพี่น้อง เช่น วิ่งเล่นไล่จับ
    หรือขี่จักรยานด้วยกัน ชวนกันมาเล่นฟุตบอล หรือไปว่ายน้ำ เพื่อให้มี
    การเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น

2. ไปเที่ยวสวนสาธารณะ หรือสปอร์ตคลับ ในวันว่างๆ อย่างวันหยุด
    สุดสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาลูกไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปขี่
    จักรยานด้วยกัน ไปวิ่งออกกำลังกายด้วยกัน หรือพาไปเที่ยวสปอร์ต
    คลับ ลองให้เขาเลือกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ร่วม
    เล่นไปกับลูกด้วย จะทำให้เขารู้สึกมีความสุขกับการเล่นกีฬา และ
    อยากที่จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ควรบังคับให้ลูกเล่นกีฬา แล้วก็ปล่อย
    ให้ลูกอยู่กับครูฝึก ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกแย่ และไม่อยากเล่นกีฬา หรือ
    ออกกำลังกายอีกค่ะ

3. อย่าเน้นการแข่งขัน สำหรับลูกวัยนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษในการเล่นกีฬา คืออย่าเน้นให้เป็นการแข่งขัน เพราะจะเป็น
    การสร้างแรงกดดัน ลูกจะไม่สนุก และไม่อยากเล่นอีก แต่ควรเน้นเรื่องเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานจะดีกว่า เพื่อให้ลูกมี
    ความสุขกับการออกกำลังกาย

4. คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้นำที่ดี พาลูกน้อยทำกิจกรรมต่างๆ และให้เขาได้ออกกำลังกายอย่างที่ชอบ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำ
    ให้ลูกน้อยสนใจการออกกำลังกายมากขึ้นค่ะ

  
การออกกำลังกาย...สร้างเด็กดี
การออกกำลังกาย ได้วิ่งเล่น ได้กระโดดตามใจชอบ จะส่งเสริมให้เด็กมีใจรักกีฬาในอนาคต ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว การเล่นกีฬา ยังสอนให้เขาได้เรียนรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด รู้ว่าแบบนี้ทำได้ แบบนั้นทำไม่ได้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือได้เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมกับคนอื่น รู้เรื่องการแพ้การชนะ เป็นนักกีฬาที่ดีเมื่อโตขึ้นด้วยค่ะ

เพียงคุณพ่อคุณแม่เน้นให้ลูกน้อยได้เล่น ได้วิ่ง ได้เคลื่อนไหวร่างกายตามใจเขา ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี ทำให้เขารักการออกกำลังกาย มีร่างกายแข็งแรงพร้อมทั้งพัฒนาการที่ดี เป็นพลังของเด็กในอนาคตค่ะ
ติดตามการออกกำลังกายสำหรับลูกวัยอนุบาลได้ในนิตยสารรักลูกฉบับมกราคม54 ค่ะ



จาก: นิตยสารรักลูก

Language Exercises for baby

ช่วงขวบปีแรกของลูก อย่าละเลยพัฒนาการด้านภาษาของลูก

 3 ขวบแรกของชีวิต ถือเป็นช่วงทองของพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กค่ะ รวมทั้งพัฒนาการด้านทักษะภาษาและการพูดด้วย ซึ่งหาคุณพ่อคุณแม่ละเลยในการส่งเสริม อาจส่งผลให้พื้นฐานด้านภาษา การพูด และการเรียนรู้ของลูกไม่ดีในอนาคตได้


ภาษาของวัยขวบแรก
ลูกวัยขวบแรกมีพัฒนาการทางภาษา 2 ด้าน คือ

การรับรู้และเข้าใจภาษา หมายถึงความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ และจำความหมายของคำได้ ความเข้าใจภาษาหรือคำศัพท์เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของลูก ซึ่งเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส แม้ว่าช่วงแรกเกิดลูกจะยังพูดไม่ได้ แต่การได้ยินหรือฟังเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จะช่วยให้ลูกรู้จักการฟัง แยกเสียงรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงมีความแตกต่างกัน โดยลูกจะเลือกรับฟังเสียงที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับตัวเองได้ก่อน เช่น เสียงแม่พูด เป็นต้น

จากนั้นจึงรู้จักเชื่อมโยงเสียงที่ได้ยินกับสิ่งที่ลูกมองเห็น คือตัวบุคคล สิ่งของ หรือกิริยาอาการต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและรู้ความหมายของคำพูด และพัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้นตามวัยค่ะ
การแสดงออกทางภาษา หมายถึงความสามารถในการพูด การแสดงท่าทางเพื่อใช้สื่อความหมาย ซึ่งได้จากการสะสมประสบการณ์และการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมทางตรงและทางอ้อม โดยพัฒนาขึ้นจากการเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เชื่อมโยงกับความเข้าใจในคำที่รู้จักซ้ำๆ ลูกจึงจะเกิดความจำและพูดอย่างถูกความหมายได้ในอนาคต


How to exercises
การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกวัยขวบแรกสามารถทำได้ดังนี้

คุยด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ควรเป็นประโยคยาวๆ เพราะลูกวัยนี้ไม่สามารถจับใจความได้ในภาพใหญ่ สอนย้ำๆ บ่อยๆ แม้ลูกวัยขวบแรกจะพูดไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจและจดจำได้ ดังนั้นหากอยากจะสอนคำศัพท์ให้ลูก ควรสอนด้วยคำสั้นๆ ย้ำๆ และควรสอนบ่อยๆ อาจชวนคุยเล่น หรือเป็นคำถามและคำตอบ เช่น นี่สีอะไร...แล้วก็ตอบสีแดง สีส้ม ซึ่งจะทำให้ลูกรู้จักทั้งคำถามและคำตอบ

นวดปาก พัฒนาการด้านภาษาจะต้องอาศัยการเลียนแบบ แต่หากลูกไม่ค่อยยอมออกเสียงคุณพ่อคุณแม่อาจต้องนวดปาก โดยการใช้มือถูเป็นวงรอบๆ ปาก จะสอนให้รู้จักอะไรก็ยกสิ่งนั้นไว้ใกล้ๆ ปาก เพื่อดึงดูดให้ลูกสนใจ และเรียนรู้ว่าเสียงทีได้ยินนั้นคือสิ่งนี้
แต่ถ้าลูกยังทำไม่ได้อาจต้องเริ่มจากออกเสียงสระกับพยัญชนะก่อน เพราะการออกเสียงตรงๆ จะง่ายกว่าคำที่ออกเสียงเป็นคำ เมื่อลูกเริ่มออกเสียงได้ค่อยสอนให้เขางุ้มปากออกมาเป็นคำ เช่น มะ มะ หม่ำ เป็นต้น

ชวนลูกขยับปาก ด้วยการคุยกับลูกและให้ลูกขยับปากมากๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อาจอ้าปากกว้างๆ แล้วบอกให้ลูกลองทำตาม อาจจะออกเสียงอ้า... พร้อมๆ กับการอ้าปากไปพร้อมๆ กัน หรืออาจจะออกเสียงอา...ใส่กล่อง ให้มีการสะท้อนกลับมาเพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกและรู้สึกอยากทำตาม หรือทำปากจู๋ แลบลิ้นแตะซ้ายแตะขวา เล่นทำเสียงบาๆ เป็นต้น หรือออกเสียงต่างๆ กัน เช่น อู อุ๊ อู๋ ให้มีเสียงขึ้นลง หรืออาจจะจับมือลูกให้มารู้จักปาก โดยการเอามือเขามาจับปากพร้อมกับบอกว่า อ้าปาก และพยายามสอนคำศัพท์ต่างๆ ด้วยคำสั้นๆ อาจเอารูปมาชี้ให้ดู หรือเวลาเห็นอะไรก็ชี้แล้วบอก เช่น หมา ตัวนี้เรียกว่า หมา เป็นต้น

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกให้มากๆ อาจหาของเล่นมานั่งเล่นกับลูก พร้อมพูดคุย ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว หรือดู TV ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ลูกมีปัญหาพูดช้าได้ค่ะ

ภาษาเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของลูกในอนาคต ดังนั้น อย่าลืมให้เวลากับลูกและพูดคุยกับลูกมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆ ของลูกให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นอีกด้วยค่ะ


คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอยากเช็กพัฒนาการทางด้านภาษาของลูก อย่าลืมติดตามต่อได้ในคอลัมน์โตวันโตคืน นิตยสารรักลูกฉบับมกราคม 2554 นะคะ




จาก: นิตยสารรักลูกฉบับที่ 336 เดือน มกราคม 2554

แนะนำนิทานภาพ 5 เรื่องดีของโลก



ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ พ.ศ. หนังสือนิทานยังคงเป็นเรื่องเล่าแห่งความสุขของเด็ก ๆ ที่แฝงไปด้วยคติ คำสอน รวมไปถึงความรู้ และจินตนาการต่าง ๆ มากมาย ทำให้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เป็นประเด็นใหญ่ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์กับเด็กแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
     
เช่นเดียวกับ ทีมงาน Life and Family ที่สนับสนุนให้ทุกบ้านรักการอ่านด้วยการคัดสรรหนังสือดีมีประโยชน์มาฝากกันอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้เรามีนิทานคุณภาพมาแนะนำทิ้งท้ายปีกัน เป็นนิทาน 5 เรื่องเอกของโลกล็อตใหม่จากโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทยปี 3 โดยมูลนิธิซีเมนต์ไทย จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยครับ

คุณยายหมาป่า (Lon Po Po)
เรื่องราวของหนูน้อยหมวกแดงจากเมืองจีน ที่เด็กๆ จะได้ร่วมลุ้นระทึกไปกับความพยายามในการชิงไหวชิงพริบระหว่างเด็กทั้งสามคนกับหมาป่า ส่วนภาพจะใช้เทคนิคสีชอล์ก (Pastel) สร้างภาพประกอบแสดงสีสันแบบจีน สื่อความมีเลศนัย โดยซ่อนรูปลักษณ์ของหมาป่าไว้ในภาพต่างๆ อย่างแนบเนียน เป็นหนังสือที่ได้รางวัลสูงสุดระดับโลกของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

  

คุตา (Granpa)
เป็นเรื่องที่ผู้แต่งต้องการเล่าเรื่องของ "สองฟากฝั่งชีวิต" คู่ขนานกันไป ระหว่างฝั่งที่เริ่มต้นวัยเยาว์อันสดใส ซึ่งผูกพันกับอีกฝั่งที่กำลังโรยรา โดยสองขั้ววัยนั้นถึงแม้จะเล่าเรื่องแบบไม่ต่อเนื่อง แต่เรื่องราวที่ดูเหมือนไม่ปะติดปะต่อนี้ กลับเติมเต็มหัวใจของเด็ก ๆ ด้วยความอิ่มเอม ส่วนภาพ สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีเรียบง่าย โดยใช้ดินสอสีเป็นลายเส้นปากกาผสมผสานกับสีน้ำ สร้างบรรยากาศให้พ่อแม่ และลูกรู้สึกราวกับตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ชิดตัวละคร

ปลา ก็คือ ปลา (Fish is Fish)
เป็นเรื่องที่นำเสนอถึงปลากับกบ ถึงแม้จะเกิด และโตในบึงเหมือนกัน แต่เมื่อโตเต็มที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก และในน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ผู้แต่งได้นำมาเติมสีสันแห่งจินตนาการ และความสนุกสนานเข้าไป โดยการสร้างสรรค์ภาพเป็นโลกในบึงน้ำที่จะทำให้พ่อแม่ และเจ้าหนูรู้สึกได้ถึงความเย็นใสสบายตา ใช้เส้นโค้ง อ่อนพลิ้วของบรรดาไม้น้ำ แสดงถึงความเคลื่อนไหวของกระแสน้ำในบึง ภาพนก วัว และคนในความคิดคำนึงของปลาก็โดดเด่น สะดุดตา กระตุ้นจินตนาการของเด็กๆ ได้อย่างสนุกสนาน

วันแสนสุข (The Happy Day)
เรื่องนี้ เด็ก ๆ จะสนุก และมีความสุขกับสัตว์น้อยใหญ่ เช่น หมีใหญ่ กระรอก หอยทาก ตัวอ้น ที่ต่างลืมตาตื่นขึ้นจากหิมะ ทีละตัว ทีละชนิด แล้วพากันวิ่ง วิ่ง วิ่งเป็นขบวนเพื่อไปดูสิ่งพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางหิมะขาวโพลน ส่วนภาพประกอบจะใช้เพียงสีขาวดำสื่อถึงความหนาวเย็นของหิมะ พร้อมกับวาดตัวละครแต่ละตัว แต่ละชนิดให้แสดงอากัปกิริยาหลับอย่างมีความสุข ตื่นและเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นมีชีวิตชีวา ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ให้อยากรู้และติดตามว่าจะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในหน้าถัดไป ต่อเนื่องไปจนถึงตอนจบ

ในป่าใหญ่ (Anno’s Strange Woods)
เป็นนิทานเล่าเรื่องป่าที่มีสัตว์ต่าง ๆ พรางกายอยู่อย่างชาญฉลาด ข้ามขอบเขตการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรสู่การเปิดโอกาสให้ผู้อ่านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ค้นหาเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพ ด้วยการดู สังเกต และการเพ่งมอง ประกอบกับการคิดเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมเพื่อนำไปสู่การค้นพบเรื่องราว สิ่งที่มีอยู่จริง และสรรพสิ่งในจินตนาการที่ให้ความรู้สึกสนุก น่าค้นหาไม่รู้จบ ประหนึ่งได้เข้าไปผจญภัยในป่าใหญ่จริง ๆ



ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ลูกถนัดซ้าย ส่งผลอะไรกับการเรียนรู้

PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย มนต์ชยา   
คำถาม: ลูกถนัดเขียนมือซ้าย หากเราพยายามบังคับให้เขาเขียนมือขวา จะมีผลเสียไหม มีผลอะไรกับการเรียนรู้หรือเปล่า หรือความปล่อยให้เป็นไปตามความถนัดของเด็กดี เพราะลูกไม่ค่อยชอบเวลาบังคับให้เขียนมือขวา นันทนีย์/ชลบุรี

เด็ก 3 ขวบในชั้นอนุบาลของครูหมู ระยะแรกที่เด็กเปิดเทอมได้ทำกิจกรรมอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับการใช้มือ เช่น กิจกรรมวาดภาพ ครูหมูสังเกตว่าลูกศิษย์ตัวน้อยคนหนึ่ง คือน้องเอมจับสีเทียน จับพู่กันด้วยมือซ้ายขณะที่วาดภาพ แม้กระทั่งเวลากินข้าว น้องเอมก็ยังคงใช้มือซ้ายกับช้อนตักอาหารกิน ครูหมูได้คุยกับคุณแม่น้องเอม คุณแม่บอกว่าไม่ได้สังเกตอย่างจริงจังว่าก่อนที่น้องเอมจะเข้าเรียน น้องเอมใช้มือซ้ายจับสิ่งของต่างๆ มากกว่าใช้มือขวาหรือไม่ ครูหมูและคุณแม่ปรึกษากันและตกลงว่าควรรอไปอีกสักหน่อย เดี๋ยวน้องเอมก็จะค้นพบเองว่า ควรใช้มือไหนจับดินสอ ช้อน ฯลฯ
มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อพบว่าลูกถนัดซ้าย จะเริ่มวิตกกังวลว่าลูกจะมีชีวิตผิดปกติเมื่อต้องอยู่ในสังคม กลัวไปไกลจนถึงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการประกอบอาชีพของลูกในอนาคต การถนัดมือซ้าย ถ้ามีการช่วยปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กถนัดมือขวานั้น เราต้องไม่คาดหวังว่าจะต้องทำสำเร็จ เพราะว่าการถนัดซ้ายของเด็กบางคน เกิดจากกลไกทางสมองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็มีเด็กบางคนถนัดซ้ายโดยไม่ได้เกิดมาจากกลไกทางสมอง แต่เกิดจากความคุ้นเคยกับการใช้มือซ้ายบ่อยกว่ามือขวา เช่น เวลาที่ผู้ใหญ่ส่งของให้ เด็กก็มักรับด้วยมือซ้าย ก็จะเกิดความเคยชินค่ะ
ด้านคุณพ่อคุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่า ควรเปลี่ยนแปลงการถนัดมือซ้ายของลูก ต้องเริ่มจากการสังเกต เพราะถ้าลูกยังเล็กไม่เกินชั้นป.1 เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ
ส่งของให้ลูกด้วยมือซ้ายของเรา ลูกจะยื่นมือขวามารับ
บอกลูกด้วยคำพูดที่นุ่มนวลให้ลูกเปลี่ยนมาใช้มือขวา เช่น แม่ว่าลูกวาดภาพด้วยมือนี้ (มือขวา) ได้สวยดีทีเดียว ลูกลองเขียน/วาดด้วยมือนี้มั่งดีมั้ย
อย่าใช้วิธีขู่ บังคับ ลงโทษเฝ้าจับผิดเวลาใช้มือซ้าย เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกต่อต้าน รำคาญ และไม่ปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่บอก
อาจจะมีการวางเงื่อนไข เช่น ถ้าลูกเปลี่ยนจากการใช้มือซ้ายมาเป็นใช้มือขวา คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชย หรือให้รางวัลด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อลูกเริ่มค้นเคยกับการใช้มือขวาแล้วก็ค่อยๆ ลดเงื่อนไขลง
ถ้าเราพบว่าเด็กรู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ หรือมีอาการอย่างอื่นอีก เช่น กัดเล็บ เครียด ต่อต้านด้วยคำพูดหรือกิริยา เด็กบางคนหากถูกบังคับมากๆ อาจจะพูดติดอ่างก็มี เราควรหยุดแล้วปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ การที่เด็กถนัดมือซ้ายไม่ใช่เรื่องทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันหรอกค่ะ เด็กส่วนมากที่ถนัดซ้าย จะมีความสามารถด้านการใช้ภาษา ความสามารถทางดนตรี การวาดภาพมีจินตนาการ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ดีค่ะ
คุณครูรุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี โรงเรียนอนุบาลสามเสน
[ ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 96 ตุลาคม 2546 ]

12 จุดในบ้านที่ควรระวังอันตรายสำหรับเด็กเล็ก

PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย กัมพล   
บ้านคือวิมานของเรา แต่บางครั้ง บางสถานการณ์บ้านกลายเป็นสถานที่อันตรายสำหรับเด็กๆ ได้เช่นกัน เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือประมาทเลินเล่อ

ในแต่ละปีเด็กไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายในบ้านด้วยสาเหตุสำคัญอันดับแรก คือ โครงสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น บันได ระเบียง พื้น ประตู หน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
นอกจากการจัดวางข้าวของเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญของการตายและบาดเจ็บของเด็ก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการตายด้วยอุบัติเหตุในเด็กนั้น มาจากสาเหตุการจมน้ำตาย ซึ่งเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ อ่างน้ำ และแหล่งน้ำใกล้บ้าน เช่น ร่องน้ำ คูน้ำ บ่อน้ำ เป็นต้น

12 จุดที่ควรระวังอันตรายสำหรับเด็กเล็ก

  1. เก้าอี้ โซฟา
    เด็กแรกเกิดเคลื่อนที่ได้จากการถีบขาดันสิ่งขวางกั้นต่างๆ ส่วนเด็กวัย 4-6 เดือนเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายได้ เป็นเหตุให้เกิดการพลัดตกจากเตียง เก้าอี้ หรือโซฟา หากจำเป็นต้องวางเด็กบนที่สูงเพื่อหยิบผ้าอ้อม หรือเตรียมนม ต้องวางมือข้างหนึ่งบนตัวเด็กไว้เสมอ
  2. เตียงเด็ก หรือเปล
    ซึ่เปลที่มีความห่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายจากดิ้นของเด็กจนศีรษะเข้าไปติดค้างได้ บางครั้งอาจติดค้างระหว่างริมเบาะที่นอนกับผนังเปล หรือเบาะที่นอนด้านที่ชิดกำแพงได้ มุมเสาทั้ง 4 ด้านของเปลที่ยกสูงขึ้นมา อาจเกี่ยวรั้งเสื้อผ้าของด็ก และเกิดการแขวนรัดคอ จึงควรเลือกประเภทของเปลและจัดวางเบาะที่นอนให้เหมาะสมสำหรับเด็ก
  3. ความร้อน
    เด็กทารกอายุ 3-5 เดือน จะเริ่มคว้าสิ่งของและกำมือได้ เด็กอาจปัดหรือคว้าของร้อนเหล่านั้น เด็กในวัยเดิน หรือวิ่งได้อาจเอื้อมคว้าสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความร้อนและถูกความร้อนลวกได้ สิ่งที่พึงระวัง คืออย่าอุ้มเด็กขณะที่ถือของร้อน อย่าอุ้มเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป นั่งบนตักขณะมีของร้อนอยู่บนโต๊ะ เก็บสายไฟของกาน้ำร้อน อย่าให้ห้อยอยู่ต่ำในระดับที่เด็กสามารถดึงกระชากให้ล้ม
  4. หน้าต่าง
    เด็กวัยเกาะยืนขึ้นไป อาจปีนป่ายเฟอร์นิเจอร์ที่วางชิดหน้าต่าง และอาจพลัดตกลงไปได้ ควรปิดหน้าต่างหรือมุ้งลวดให้สนิท ไม่วางเฟอร์นิเจอร์ในตำแหน่งที่ชิดกับหน้าต่าง
  5. บันได
    เด็กวัย 6-12 เดือน จะเริ่มเคลื่อนที่ได้ดีและเร็วขึ้นจากการกลิ้ง คืบคลาน เกาะเดิน และเดินได้เอง เมื่อเด็กเดินหรือวิ่งได้แล้วก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการตกบันได หกล้ม ชนกระแทก จึงควรตรวจสอบราวบันไดและระเบียงไม้ให้มีช่องห่างพอที่เด็กจะลอดได้
  6. สัตว์เลี้ยงในบ้าน
    เด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป มักสนใจสัตว์เลี้ยงต่างๆ ในบ้าน อาจถูกเลีย กัด ข่วน จากการจับ ดึง หรือแหย่สัตว์ได้ ไม่ควรปล่อยให้เด็กทารกอยู่ตามลำพังกับสัตว์เลี้ยง สอนเด็กไม่ให้รังแกสัตว์ เช่น ดึงหู ดึงหาง แย่งจานอาหาร ของเล่นสัตว์ และควรฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง
  7. ประตูห้อง
    จัดว่าเป็นจุดอันตรายสำหรับเด็กวัยหัดคลาน หัดเดิน อาจถูกประตูหนีบมือได้ จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันประตูหนีบมือ
  8. ห้องน้ำและภาชนะใส่น้ำ
    เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 10 ปี มักเกิดจากการเผลอชั่วขณะ หรือความประมาทของผู้เลี้ยงดู ห้ามให้เด็กนั่งเล่นน้ำตามลำพังในอ่างน้ำ ระดับน้ำสูงเพียง 5 ซม. ก็อาจจมน้ำได้ จึงควรกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านและละแวกบ้าน หรือกั้นรั้ว กั้นประตู ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำได้ เช่น การเทน้ำในถังทิ้งไป การปิดฝาถังน้ำ การปิดประตูห้องน้ำ ปิดประตูหน้าบ้านหลังบ้านเพื่อไม่ให้เด็กคลานออกไปได้
  9. ตู้ ชั้นวางของ โต๊ะวางทีวี
    เด็กวัย 1 - 2 ปี มีความสามารถในการปีนป่าย ยืนบนเก้าอี้เพื่อหยิบของบนที่สูงได้ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นสารพิษ โต๊ะวางสิ่งของเหล่านี้จึงควรวางบนพื้นราบ มั่นคง ไม่ล้มง่าย หรือควรยึดโต๊ะด้วยสายยึดกับกำแพง เฟอร์นิเจอร์ต้องไม่มีมุมคม หากมีควรใส่อุปกรณ์กันกระแทกที่มุมของทุกมุม
  10. ประตู รั้วบ้าน ต้องมั่นคงไม่หลุดจากรางมาล้มทับเด็ก
  11. ห้องครัว
    ควรมีประตูกั้นเพื่อมิให้เด็กเข้าไปในบริเวณนั้นได้ อย่าวางของร้อนบนพื้นและของมีคมในที่เด็กเอื้อมมือถึง
  12. ปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า
    ควรปิดที่ีเสียบปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้ด้วยพลาสติคสำหรับปิด หรือติดตั้งกล่องครอบปลั๊กไฟ ต่อสายดินกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องซักผ้า และต่อเครื่องมือตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ