วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

4 ข้อ .... หยุดพฤติกรรม

4 ข้อ .... หยุดพฤติกรรม“ เรียกร้อง “ ของเด็กยุคใหม่
โดย อาจารย์มาณวิกา สงวนวงศ์

อาจารย์มาณวิกา สงวนวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการสมาคม อนุบาลศึกษาแห่ง ประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนฤมลทิน ธนบุรี ฉบับนี้ อาจารย์มีตัวอย่างพฤติกรรมและวิธีแก้ไขของเด็กยุคใหม่มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ด้วยความ เจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เด็ก ๆ ได้รับสารผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกน้อยนิด จึงทำให้เด็ก ๆ สมัยนี้เรียกร้องอะไรต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญ คือขาดการมองกลับพิจารณาการ กระทำของตนมีส่วนผิดหรือถูกอย่างไร

ที่ถนัดที่สุดของเด็ก ๆ ก็คือ การกล่าวโทษผู้ใหญ่ที่รู้ว่ารักตนมาก ๆ นั่นก็คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง ฯ ล ฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่กินอาหารเพราะปรุงไม่อร่อย เรื่องการมาโรงเรียนสายเพราะแม่ปลุกช้า ทำการบ้านผิดเพราะพ่อไม่มาตรวจทานให้ คะแนนสอบไม่ดีเพราะพ่อแม่ไม่ส่งไปติว เป็นต้น

สำหรับใครที่กำลังเจอปัญหาที่ว่า ลองใช้ขั้นตอนต่อไปนี้หยุดพฤติกรรมเรียกร้อง ของเด็ก ๆ ที่บ้านนะคะ

1. ฝึกให้รู้จัก “ การขอ “ ข้อนี้ทำไม่ยากเพราะเด็ก ๆ ถนัดอยู่แล้ว เพียงแต่การขอจะต้องคำนึงถึง กาลเทศะ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น การพาเด็กไปซูเปอร์มาร์เก็ต เขาจะรู้ทันทีว่ามีอาหารอร่อย ของใช้สวย ๆ มากมาย และเมื่อเข็นรถผ่านชั้นวางของต่าง ๆ มือเล็ก ๆ ก็จะหยิบฉวยของใส่รถเข็นโดยไม่สนใจว่าราคาเท่าไร มีประโยชน์แค่ไหน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้เลยว่าใครเอามาใส่ไว้ในรถเข็น รู้อีกทีก็ตอนชำระเงินแล้ว

ลองปรับเปลี่ยนด้วยการถือแต้มเหนือกว่าดูนะคะ โดยตั้งกติกาก่อนเดินทางว่า ถ้าไปถึงแล้วแม่อนุญาตให้หนูเลือกของได้เพียง หนึ่งอย่างเท่านั้น ( ถ้าโตหน่อยก็คุมเพดานมูลค่าของสินได้อีก ) ถ้าไม่ตกลง จะไม่เอาไปด้วย อย่างนี้เจ้าตัวดีก็จำต้องพยักหน้ายอมรับ และเมื่อไปถึงก็ต้องแน่วแน่ไม่ใจอ่อน เพราะถ้าสำเร็จครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปสบายมากค่ะ

2. ฝึกให้รู้จัก “รอ” คำนี้เป็นคำสั้น ๆ ที่มีความหมายมาก และไม่ค่อยจะมีในพจนานุกรมของเด็กสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะมีแต่คำว่า “ เดี๋ยวนี้ “ “ ต้องให้นะ “

เมื่อเด็กขอสิ่งของ ขนม หรือของใช้ที่อยากได้ คุณควรจะตกลงกันให้เข้าใจว่าการเอ่ยปากขอ ไม่ได้หมายความว่าต้องได้ทันที ขึ้นอยู่กับเวลาและเงินในกระเป๋าด้วย หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่เด็กต้องให้ความเคารพในเหตุผลว่าให้รอถึงเมื่อไร แต่ถ้าบอกเขาไปแล้วก็ต้องรักษาคำพูดให้ตรงเวลาด้วยนะคะ นอกจากจะมีเหตุจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนค่ะ

ยกตัวอย่าง น้องแทนเห็นเพื่อนมีสีแท่งสวยกล่องใหญ่ ก็อยากจะได้บ้าง พอได้ไปเดินห้าง เห็นสีแบบนั้นจึงร้องขอทันที ถ้าหากคุณตามใจเด็กก็จะตัดสินใจซื้อให้

แต่ถ้าเห็นว่า เขายังมีสีกล่องเล็กที่บ้านอยู่เต็มกล่อง จึงยังไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ก็ควรจะบอกลูกว่า “ แม่ก็อยากซื้อให้นะลูก เพียงแต่ลูกยังมีสีกล่องเล็กที่ยังไม่หมด ไว้ลูกใช้ให้หมดก่อน แม่จะซื้อให้นะจ๊ะ “ หรือ “ แม่มีเงินจำกัดนะลูก เดือนนี้จ่ายค่าขนมของลูกไปมากแล้ว เอาไว้ก่อนนะ เดี๋ยวเงินค่าขนมของหนูจะหมดก่อน “ หรือจะใช้ลูกยุให้เก็บเงินค่าขนมของเขาไว้ซื้อเอง โดยคุณออกให้บางส่วนก็ได้ค่ะ

3. ฝึกให้รู้จัก “ รับ “ เมื่อขอแล้ว รอแล้ว พอได้รับของหรือการกระทำใด ๆ ที่พ่อแม่ทำให้แล้ว เด็กก็มีหน้าที่ต้อง “ รับ” อย่างเหมาะสมเริ่มต้นที่การกล่าวขอบคุณ ไหว้อย่างสวยงาม การใช้อย่างคุ้มค่าใช้ของอย่างทะนุถนอม รู้จักเก็บรักษา ไม่ทิ้งขว้าง และหากเขาทำได้ ก็จะได้รับการตอบสนองในทางที่ดี เช่น คำชมเชยและความไว้ใจ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องให้ลูกรับรู้ว่าสิ่งที่เขาร้องขอนั้น พ่อแม่อาจให้ไม่ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งควรพูดคุยอธิบายให้เข้าใจ การฝึก ให้ลูกได้รับความผิดหวังบ้างในเหตุการณ์ที่เหมาะสม จะทำให้เขา “ แกร่ง “ ขึ้น พร้อมที่จะรับมือกับการถูกปฏิเสธได้ดีขึ้นในตอนโต

4. ฝึกให้รู้จัก “ ให้ “ กระบวนการ 4 ขั้นตอนนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดข้อนี้ค่ะ แต่คนที่รู้จัก “ แบ่งปัน “ หรือ “ ให้ “ นั้น ต้องเป็นคนที่ เคยได้รับมาก่อน ถ้าเด็กเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการกดขี่ข่มเหง คงเป็นการยากที่จะให้เด็กคนนั้นรู้จักแบ่งปัน สิ่งของกับผู้อื่นโดยง่าย ตรงกันข้ามกับเด็กที่รับความรัก ความอบอุ่นจากทางบ้านอย่างดี เมื่อเข้าสังคมก็พร้อมที่จะ “ ให้ “ คืนกลับสู่สังคมได้ดีกว่า

“ ขอ “ “ รอ “ “ รับ “ และ “ ให้ “เป็น 4 คำสั้น ๆ ที่มีความหมายใหญ่หลวงนัก เป็น 4 คำที่จะสามารถปลูกฝังในจิตใจเด็ก ๆ ให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์มีค่าในสังคมได้ หากเด็กรู้จักแต่รับโดยไม่รู้จักรอก็จะฝึกนิสัยให้เป็นคนวางโต เมื่อฉันอยากได้อะไรฉันต้องได้ ถ้าเด็กรู้จักแต่การขอ ก็จะกลายเป็นคนที่รู้มาก ห่วงแต่ตนเอง เห็นแก่ตัว โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น

จึงขอฝาก 4 คำที่ล้ำค่าไว้ แด่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่จะร่วมกันช่วยฝึกฝนอบรมให้เด็กของเราเป็นเด็กที่มีจิตใจงามพร้อมต่อไปด้วยนะค่ะ เพราะมีประโยคเตือนใจประโยคหนึ่งที่ ว่า Remember that your child”s character is like good soup. Both are homemade. หมายถึงการรดน้ำพรวนดินเพื่อให้เด็กน้อยเติบโตเป็นคนดีนั้น เริ่มกระบวนการจากที่บ้าน แล้วจึงมาถูกสานต่อที่โรงเรียนเพื่อส่งไปยังสังคมโดยรวมค่ะ
ความสำคัญของกิจกรรมวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์เหมาะสมสำหรับเด็กหรือไม่ ?
วิทยาศาสตร์มี ความสำคัญต่อพัฒนาการ อย่างไร ?

การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มีความเหมาะสมสำหรับเด็กในวัยนี้มีธรรมชาติที่อยากรู้ อยากเห็น และสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว วิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กได้รู้จักตนเองและธรรมชาติรอบตัวในแง่มุมที่ถูกต้อง

นักวิชาการและผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มีส่วนส่งเสริมเด็กใน หลายด้านดังนี้
  • ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง (self concept) วิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติและศักยภาพของมนุษย์
  • วิทยาศาสตร์มีผลต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญาสาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การตั้งคำถาม การค้นคว้าและการคาดเดา ล้วนเป็น ข้อมูลความรู้และกระบวนการทางความคิด ที่ส่งเสริมความเจริญงอกงามทางสติปัญญา
  • ทักษะทางวิทยาศาสตร์บางประการ เช่น การแก้ปัญหา (problem solving) เป็นกระบวนการสำคัญสำหรับมนุษย์ ในการดำเนินชีวิต
  • กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม และการใช้ภาษาสื่อสารเนื่องจากกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยส่วนมากอาศัยการทำงาน ร่วมกัน
ขอบข่ายและขอบเขตของวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กคืออะไร ? การนำเสนอสาระควรครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง ?

หัวใจสำคัญของเนื้อหาคือ ครูควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอสาระทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาควรเป็นสิ่งที่เด็กมีความเข้าใจและมีความหมายต่อตัวเลือก โดยเริ่มต้นจากการได้รู้จักตนเอง แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่เรื่องรอบตัว

ตัวอย่างสาระทางวิทยาศาสตร์ที่ครูสามารถเลือกมานำเสนอได้มีดังนี้
    ก) ตนเองและมนุษย์ คุณครูอาจเริ่มต้นด้วยการ นำกระจกขนาดที่เด็กสามารถมองเห็นตนเองได้มาให้เด็กสังเกตดูส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้สังเกตถึงการทำงาน และสมรรถภาพทางร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก รู้จักตนเองดีขึ้น ข) ธรรมชาติศึกษา เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เด็กส่วนใหญ่ให้ความสนใจ การเฝ้าดูลูกปลาเล็กๆว่ายน้ำในขวดโหล หรือการเฝ้าการสังเกตการณ์งอกของเมล็ดถั่ว ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความต้องการที่แตกต่างหรือเหมือนกันของสิ่งมีชีวิตในโลก ค) ปรากฎการณ์ธรรมชาติและสภาพดินฟ้าอากาศ ก็เป็นสิ่งใกล้ตัวซึ่งเด็กๆ ได้มีประสบการณ์อยู่เสมอ ง) ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ และการเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องของน้ำ อากาศ เสียง ฯลฯ นอกจากนั้นยังอาจมีสาระทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ครูสามารถนำเสนอกับเด็กได้แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาส และพึงพิจารณาถึงความเหมาะสมของเนื้อหาว่า เป็นที่สนใจและมีความหมายต่อเด็กหรือไม่
บทบาทของครู
  1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้ครูมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
  2. วางแผนการจัดกิจกรรมและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่สาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ กิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ ทราย การผสมสี การระบายสี การดูแลเลี้ยงดูสัตว์ กิจกรรมการสร้างต่างๆ – บล็อกงานไม้ การเตรียมอาหาร การใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย การทดลอง ฯลฯ
  3. จัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่เอื้อต่อการสังเกต ค้นคว้า สงสัย และทดลอง – การจัดมุม วิทยาศาสตร์และมุมธรรมชาติศึกษา
  4. ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการร่วมกิจกรรม เช่น การชักจูงความสนใจด้วยการตั้งคำถามนำ การทำตัวอย่างให้ดูและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิด

เพลงที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน ก - ฮ

เพลงที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน ก - ฮ


ก. ไก่สอนน้อง
ก. ไก่ในสวนบ้านฉัน เช้าขันปลุกฉันตื่นนอน
เช้าแล้ว ก. ไก่ตื่นก่อน (ซ้ำ) ก. ไก่สั่งสอนฉันไปโรงเรียน

ข. ไข่ ร้องเพลง
ไข่ ไข่ ไข่ ไข่ละหนอ ข. ไข่
จดจำเอาไว้ ข. ไข่จะร้องเป็นเพลง
ไข่จะเกิดก่อนไก่ ไก่จะเกิดก่อนไข่
คิดออกไหม คิดได้แล้วทายกันเอง

ฃ. ขวดอวดนักเลง
ฃ. ขวดหัวหยักหยัก ฉันไม่รัก ฃ. ขวดใส่เหล้า
ไม่ชอบนักเลงขี้เมา (ซ้ำ) จำไว้เถิดเรา ฃ. ขวดเหล้าทิ้งไป

ค. ควายเก่งไถนา
ค. ควายมีสี่ขา ใช้ไถ่นามีเขายาวงาม
อยู่ในโคลนจนตัวมันดำ เดินย่ำน้ำร้องฮุยเลฮุย

ฅ. คน จนยาก
ฅ. คนจนมีมาก เขาลำบากควรเมตตา
ช่วยเหลือกรุณา คนจนจะหมดไป

ฆ. ระฆังฝากหลวงตา
หง่าง เหง่ง หง่าง ระฆังดังขาน
กังวานเพราะดี พระท่านตีเพื่อบอกเวลา

ง. งูจะกัดขา
ง. งูชูคอ ขู่ฟ่อฟ่อแล้วแผ่พังพาน
ง. งูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (ซ้ำ) ระวังเดินผ่านงูฉกกัดเอา
จ. จาน จัดอาหารดี
จ. จานใบนี้ สีสวยถูกใจ
จ. จานใบใหญ่ ใส่ผลไม้ดี
ข้าวปลาอาหาร จ. จานรองรับ
ทั้งข้าวและกับ ก็อยู่ในจาน

ฉ.ฉิ่ง ตีจังหวะ
ฉับฉิ่งฉับ ฉ.ฉิ่งตีกำกับ
ฉิ่งฉับฉิ่งฉับ ตีกลองแล้วฉิ่งตีรับ
ว่าฉิ่งฉิ่งฉับ ฉันชอบจริงจริง

ช. ช้าง จ๋าลากซุงที
ช.ช้างมีงวงมีงา ช.ช้างมีสี่ขา
มีสองตา สองหูกางใหญ่
ช.ช้างตัวโตเกินไป ฉันใช้ให้ ช. ช้างลากซุง

ซ.โซ่ล่ามหลายที
ซ. โซ่นั่นไปไหน ใช้ล่ามเรือใบ
ไม่ให้ลอยไป ห่างไกลเสาหลัก
เรากลับบ้านพัก ซ.โซ่น่ารักใช้ล่ามประตู

ฌ.เฌอนี้คือต้นไม้
หลบแดดหลบฝน ใต้ต้นไม้ใหญ่
จะวิ่งไปไหน หลบใต้ต้นไม้ ฌ.เฌอ

ญ. ดีตัวอย่าง
ญ. เอ๋ย ญ. หญิง สวยจริงน่าชม
มารยาทงามสม เป็นกุลสตรี



ฎ.ชฎา นางละครใน
แสงระยิบระยับตา สวมชฎาเพร็ชแพรวพราย
ร่ายรำกรีดกราย ละครในต้องใส่ชฎา

ฏ.ปฏัก ใช้ปักแทงควาย
ควายดื้อไม่ยอมเดินไป ชาวนาใช้ให้ไปไถนา
ควายกลัวปฏักหนักหนา ต้องรีบไถนาเพราะปฏักแหลมคม

ฐ.ฐานใช้เป็นที่รอง
ฐ.ฐานทั้งเล็กใหญ่ ผู้คนใช้ไว้รองรับ
หีบกล่องโยกย้ายขยับ (ซ้ำ) ใช้ฐานรองรับยกของง่ายดี

ฑ.นางมณโฑ คือนางกบ
ครั้งหนึ่งยังมีนางกบ ฤาษีไปพบบังเกิดเมตตา
ฤาษีเสกมนต์คาถา นางกบกลายมาเป็นนางมณโฑ

ฒ.ผู้เฒ่า พบความหม่นหมอง
ผู้เฒ่าคนแก่ พบแต่ความเศร้า
นั่งคอยหงอยเหงา เฝ้าพบลูกหลาน
น้ำหอมน้ำเย็น เช่นวันสงกรานต์
นำไปให้ท่าน ลูกหลานได้พร

ณ.เณร ห่มเหลืองทอง
ณ. อายุน้อยน้อย เดินค่อยค่อยตามหลังพระ
ศีลห้ามสิบข้อนะ ณ.เณรจะทำความดี

ด. ต้องทำความดี
ด. เด็กตัวน้อยนิด ด. เด็กคิดทำความดี
ตัวอย่างที่งดงาม ต้องเชื่อฟังพ่อแม่เอย

ต. เต่าเดินเตาะแตะ
ต.เต่าเดินเตาะแตะ เดินเลาะและหลังตุงตุง
เดินหลงไปกลางทุ่ง เด็กเด็กมุงดูเจ้า ต.เต่า

ถ. ถุงแนะใส่ของงาม
ถ.ถุงหลายขนาด มีถุงกระดาษและถุงผ้า
ถุงเล็กไว้ใส่เงินตรา (ซ้ำ) ถุงมีคุณค่าไปรษณีย์

ท.ทหาร ต้องเฝ้ายาม
ท. ทหารแบกปืนยืนเฝ้ายาม ศัตรูเกรงขามรีบวิ่งหนี
ท. ทหารต้องทำตามหน้าที่ ท.ทหารที่ดีมีวินัย

ธ. ธง นำโบกเอาชัย
สวนสนาม สวนสนาม ธ. ธงนำโบกเอาชัย
โบกธงสามสีไป แดงขาวน้ำเงินไซร้ เรียกว่า “ไตรรงค์”

น.หนู สกปรก
หนู หนูจ๋า อย่ามาทำสกปรก
น. หนู อย่าทำบ้านรก
น. สกปรก น. หนูซุกซน

บ. ใบไม้ ตกร่วงปลิวไป
ลมพัดฉิว ฉิว บ. ใบไม้ปลิวลอยลิ่วจากต้น
แลเกลื่อนตามทางสองข้างถนน ใบไม้ร่วงหล่นเด็กซนช่วยเก็บ

ป. ปลา ว่ายน้ำใส
ป. ปลาว่ายวนมา ว่ายวนมาแล้วเวียนไป
ป. ปลาว่ายมาใกล้ใกล้ ในน้ำใสใสมองเห็นตัวปลา



ผ.ผึ้ง ให้น้ำหวานกิน
ผ.ผึ้งแสนขยัน ชอบทำงานหาน้ำหวานกิน
ยามเช้าฝูงผึ้งโบยบิน ดูดเกสรกินดอกไม้นานา

ฝ. ฝา มีไว้ปิด
ฝ.ฝาทุกชนิด มีไว้ปิดสนิทดี
ฝาหีบฝาหม้อฝาชี ฝาละมีใช้ปิดเช่นกัน

พ.พาน คิดใส่ทรัพย์สิน
พ.พานคล้ายกับจานรอง พานเงินพานทองใช้รองทั้งนั้น
แก้วแหวนเงินทองของขวัญ ให้ของกำนัลใส่ พ.พานรอง

ฟ. ฟัน แปรงฟันให้ชิน
ฟ.ฟันขยันหมั่นแปรง แปรงฟันให้สนุก
แปรงฟันให้ถูกวิธี ฟันบนแปรงลงทุกซี่
ฟันล่างปัดขึ้นอีกที ฟันสวยทุกซี่ขาวดีสะอาดจัง

ภ. สำเภา จมสิ้นด้วยแรงลม
โล้สำเภาเมาคลื่นลม ภ.สำเภาใกล้จมพายุโหมทะเลบ้า
เรือรบลำใหญ่ช่วยคนไว้อย่าได้ช้า ภ.สำเภาพริบตาจมลงกลางทะเล

ม.ม้าควบก๊อบก๊อบ
ม. ม้า เอ๋ย ฉันเคยเห็นเจ้าทั้งหลาย
ม้าขาว ม้าลาย ควบวิ่งไปไหน เสียงดังก๊อบก๊อบ

ย.ยักษ์ชอบให้คนชม
ย.ยักษ์มักดุร้าย ยักษ์ชอบใจชอบให้คนชม
ย.ยักษ์นั่งทุกข์ระทม ไม่มีคนชมร้องไห้งอแง

ร. เรือไม่กลัวล่ม
ร.เรือลำน้อย เคลื่อนคล้อยไปตามลำคลอง
พายขึ้นพายลงลอยล่อง ตามลำคลองน้อยนั่งพาย
ล. ลิงก้มโหนตัวไป
ล. ลิงกลอกกลิ้งนัยน์ตา เห็นคนเดินมามันร้อง เจี๊ยก เจี๊ยก
ใครหนอส่งเสียงร้องเรียก เสียงร้องเจี๊ยกเจี๊ยก ล่อเจ้า ล.ลิง

ว.แหวนแสนสุดสวย
ว.แหวนสวมใส่ นิ้วนางซ้ายคุณ แม่ฉัน
คุณแม่บอกฉันทุกวัน คุณพ่อฉันให้คุณ แม่มา

ศ. ศาลาช่วยให้ใจเย็น
ศ.ศาลาหลังคาเล็กเล็ก ผู้ใหญ่เด็กได้พักเย็นใจ
หลบแดดหลบฝนผ่อนคลาย สุขสบายใน ศ. ศาลา

ษ.ฤาษีชุบมณโทไว้
ยังจำได้ไหมว่าใครมีฤทธิ์ ฤาษีชุบชีวิตช่วยนางมณโท
ฤาษีชีไพรกายไม่ใหญ่โต นั่งใต้ต้นโพธิ์ทองป่นมนตรา

ส. เสือไม่ยอมลืมตา
ส. เสือสุขสันต์ กลางวันนอนหลับ
ไม่ยอมขยับ ไม่ยอมลืมตา
ส. เสือนอนฝัน พระจันทร์เดือนหงาย
ฝันเห็นกระต่าย เดินใกล้เข้ามา

ห. หีบไว้ใส่ของ
ห.หีบใหญ่ ใหญ่ มีไว้ใส่ของ
ไม่เกะกะเป็นกอง หีบใส่ของน่าชม

ฬ. จุฬา ส่องลอยขึ้นฟ้า
ว่าวจุฬาลอยฟ้าล่องลม สุขใจชมเจ้าว่าวจุฬา
ว่าวจุฬาลอยฟ้าน่ามอง อยากจะลองเล่นว่าวจุฬา


อ.อ่าง ใช้ซักผ้า
อ.อ่างใช้ซักผ้า ใช้เลี้ยงปลาก็ดูดี
อ.อ่างอีกวิธี ดอกบัวมีใช้อ่างเลี้ยงบัว

ฮ. นกฮูก ว่า “เป็นเด็กดี”
นกฮูกตาโตโต บอกโอ้โฮหนูเป็นเด็กดี
ไม่ดื้อ ไม่ชนเช่นนี้ เด็กที่ดีนกฮูกชื่นชม

เพลงสำหรับเด็กปฐมวัย

การนำเพลงไปใช้จัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย


เพลงสำหรับเด็กปฐมวัย


โลกของเด็กเป็นโลกดนตรี เด็กๆมักชอบทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ในการร้องเพลง การสอดแทรกกเพลงรวมไปในบทเรียนจะช่วยให้เด็กเกิดความสนใจ เกิดการเรียนรู้และส่งเสริมด้านภาษาของเด็กทำให้เด็กสนุกสนาน เพลิดเพลิน

ความหมาย
การร้องเพลง หมายถึง กิจกรรมที่จัดให้กับเด็กให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และเรียนเกี่ยวกับภาษา เนื้อหา จังหวะและดนตรีของเพลงที่ร้อง

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่เบื่อหน่าย
2. เพื่อให้เด็กได้รับความรู้อย่างสนุกสนาน เพราะเป็นการเรียนแบบปนเล่น
3. เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้เด็กมีนิสัยอ่อนโยน
4. เพื่อให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มในการแสดงท่าทางประกอบ
5. เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายในการเคลื่อนไหวร่างกายกับจังหวะเพลง
6 เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมให้เด็กมีโอกาสปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และร่วมงานกันได้ดี เกิดความสามัคคี

เพลงสำหรับเด็กเริ่มเรียน
ในระยะแรกเริ่มเรียนควรมีเนื้อเพลงสั้นๆกระฉับและง่ายต่อการจดจำ สาระของเนื้อเพลงต้องเหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก คำที่ใช้ร้องควรเป็นคำศัพท์ที่เด็กเข้าใจ ทำนองเพลงง่ายๆเสียงเพลงไม่สูงหรือต่ำ มีจังหวะชัด เด็กๆชอบเพลงที่มีความสนุกสนาน เด็กเล็กๆร้องตามจังหวะเร็วไม่ได้ แต่โตขึ้นเด็กจะร้องจังหวะเร็วได้เอง

การนำเพลงไปจัดกิจกรรมให้กับเด็ก
ครูควรเลือกเนื้อเพลงง่ายๆ มีเนื้อร้องสั้นๆ ตรงกับความต้องการของครูว่าต้องการให้เด็กร้องเพลงเพื่ออะไร เช่น บางครั้งอาจใช้ร้องเพื่อเป็นเรียกความสนใจของเด็กก่อนเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ในลักษณะการนำเข้าสู่บทเรียน (การเก็บเด็ก) หรืออาจใช้ในการเรียนการสอน การสรุปทบทวนความรู้จากบทเรียนนั้นๆ ดังนั้น วิธีการจัดกิจกรรมการร้องเพลงการร้องเพลงอาจให้เด็กฟังหรือร้องเพลงพร้อมครู โดยไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อร้องให้ได้ก่อน แต่อาจให้เด็กพูดเป็นคำคล้องจองตามเนื้อเพลงได้
ก่อนสอนเพลงครูควรนำภาพหรือของจริงที่เกี่ยวกับเนื้อหาของเพลงมาให้เด็กดู ครูร้องเพลงให้เด็กฟังก่อน 1 - 2 เที่ยวแล้วจึงให้เด็กว่าเนื้อเพลงที่ละวรรคตาม จากนั้นก็ให้เด็กร้องเพลงพร้อมครู และร้องเพลงพร้อมกัน การสอนเพลงให้กับเด็กนั้นมิได้มุ่งแต่จะร้องเพลงได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการเคาะจังหวะหรือแสดงท่าทางประกอบด้วย

เนื้อหาเพลงที่ใช้สอนเด็ก
เพลงที่ใช้สอนเด็กมีเนื้อร้องที่ให้ความรู้ และช่วยในการแสริมสร้างพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ให้แก่เด็กเพื่อพัฒนาตามวัย
1. ด้านร่างกาย ในการสอนเด็กปฐมวัยต้องใช้ท่าทางประกอบ เนื่องจากเด็กชอบการเคลื่อนไหวไม่ชอบอยู่นิ่ง ในการร้องเพลงจึงควรทำท่าทางประกอบ เด็กจะได้ทำท่าทางตามครู หรือคิดขึ้นเองที่เข้ากับจังหวะและเนื้อเพลง
2. ด้านอารมณ์-จิตใจ ขณะที่เด็กร้องเพลงหรือทำท่าทางประกอบเพลงนั้น เด็กจะแสดงอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส สนุกสนาน เพลิดเพลิน ดวงตาเป็นประกายอย่างมีความสุข เพลงจะช่วยให้เด็กคลายความเครียด มีอารมณ์สดชื่น
3. ด้านสังคม เมื่อเด็กมาโรงเรียนนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเด็ก เพราะเด็กต้องจากบ้าน จากพ่อจากแม่มาสู่โรงเรียนซึ่งเป็นสังคมใหม่ ประกอบไปด้วยสถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ ครู หรือคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในโรงเรียน สิ่งที่จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยและเข้ากับผู้อื่นได้ ด้วยการใช้เพลงเป็นสื่อ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้สนิทสนมใกล้ชิดกับเพื่อนและครู
4. ด้านสติปัญญา เพลงช่วยให้เด็กมีความรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดี ทั้งช่วยให้จำได้เร็วกว่าการบอกเล่า ฝึกให้รู้จักคิดและได้ความรู้เรื่องต่างๆ เช่น
4.1 คณิตศาสตร์ เพลงช่วยให้เด็กมีความเข้าใจและจดจำเกี่ยวกับเรื่องจำนวน หรือความหมายทางคณิตศาสตร์ได้ดี และผู้สอนอาจจะสังเกตว่าเด็กเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงได้เพียงใด จากการที่เด็กแสดงท่าทางประกอบเพลง
4.2 วิทยาศาสตร์ เพลงเด็กมีหลากหลายเพลงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบๆ ตัวเด็ก เช่น เกี่ยวกับสัตว์ พืช ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เป็นต้น

การประเมินผล
1. สังเกตความสนใจในการร่วมกิจกรรม
2. สังเกตความกล้าแสดงออกของเด็ก
3. สังเกตการณ์ร้องเพลงและการทำท่าทางประกอบ