วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย

การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กได้อย่างดีด้วย
หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. องค์ประกอบของการเตรียมความพร้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เป็นความรู้พื้นฐานของการเตรียมความพร้อมที่ยึดตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจแบ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ
1.1 พัฒนาการ ในวัยที่แตกต่างกัน เด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการแต่ละด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แตกต่างกัน การเตรียมความพร้อมจำเป็นจะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กตามขั้นตอนของพัฒนาการ เช่น ฝึกให้เด็กอายุ 3 ขวบ เขียนรูปสามเหลี่ยม เด็กไม่สามารถทำได้เนื่องจากการบังคับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่ดีเท่าที่ควร การให้เด็กฝึกขีดเขียนลากเส้นตามใจชอบ จะช่วยเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและความพร้อมของเด็ก เมื่อถึงเวลาแสดงออก โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับเด็กให้เปล่าประโยชน์
1.2 ระดับวุฒิภาวะ เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามเวลาที่กำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอัตราเร็วช้า แตกต่างกันได้ การเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าเด็กมีระดับวุฒิภาวะที่พร้อมแสดงออก ซึ่งเด็กก็จะสามารถแสดงพฤติกรรมหรือความสามารถนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การฝึกให้เด็กเขียนหนังสือในขณะที่เด็กอายุ 3 ปี ย่อมเกิดขึ้นได้ยากมากและใช้เวลานานกว่าการสอนเด็กอายุ 5 ปี
1.3 ความต้องการ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วยให้การเตรียมความพร้อมของเด็กเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งได้รับความรัก ความอบอุ่นใจ และการยอมรับตนเอง จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป
1.4 ความสนใจ ลักษณะเด่นของเด็กปฐมวัย คือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบตรวจค้นและสำรวจสิ่งรอบตัว ทั้งยังชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การจัดกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำ ค้นคว้า ทดลอง เรียนรู้ปนเล่นอย่างอิสระจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองพอใจ จะช่วยสร้างเสริมความพร้อมทางการเรียนรู้แต่ละด้านได้เป็นอย่างดี
1.5 ความสามารถ เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแตกต่างกัน ทั้งนี้จากอิทธิพลของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและประสบการณ์ได้รับจากสภาพแวดล้อม สังเกตได้ว่า เด็กที่พ่อแม่เป็นนักดนตรี มักมีความสามารถทางดนตรีเป็นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา มักมีความสามารถพิเศษทางการได้ยิน จำแนกเสียง การเตรียมความพร้อมได้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านนั้นได้ดียิ่งขึ้น
2. ลักษณะของการเตรียมความพร้อม การจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในขั้นต่อไป คือ
2.1 ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ สุขภาพอนามัย ความแข็งแรงของส่วนต่างๆทางร่างกาย สมรรถภาพการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ของประสาทสัมผัส การรู้จักช่วยเหลือตนเอง
2.2 ความพร้อมทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ สุขภาพจิต การรู้จักตนเอง การแสดงออกเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
2.3 ความพร้อมทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม การยอมรับค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ
2.4 ความพร้อมทางสติปัญญา ได้แก่ สมรรถภาพการรับรู้ ความสามารถทางการเรียนรู้ การรู้จักคิดด้วยเหตุผลและการแก้ปัญหา ความสนใจสิ่งรอบตัว ความสามารถในการสังเกตและการจดจำ การใช้ภาษาสื่อความหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. หลักทั่วไปของการเตรียมความพร้อม การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะบังเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างเหมาะสม คือ
3.1 ธรรมชาติของเด็ก เด็กทุกคนมีแบบแผนการเจริญเติบโตโดยส่วนรวมเหมือนกัน แม้กระนั้นเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมของเด็กที่สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรม ระดับวุฒิภาวะ ความต้องการ ความสนใจและความสามารถของเด็กเป็นตัวบุคคลควบคู่ไปกับพัฒนาการตามวัยหรือช่วงอายุของเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีในการพัฒนาตนเองและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ตามศักยภาพของตน
3.2 วิธีการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด หรือ
สถานการณ์ใด การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและระดับความสามารถของเด็ก รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงหรือได้ลงมือกระทำ สัมผัส สำรวจ ค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆรอบตัวจากการเล่นอย่างอิสระ หรือเล่นปนเรียนตามความพอใจของเด็ก จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และใฝ่รู้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นใจในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี
3.3 แนวการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ประสบการณ์ที่เด็กได้รับควรมีลักษณะบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ในรูปแบบของกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความพร้อมทุกๆด้านของเด็กอย่างผสมผสานไปด้วยกัน โดยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนฝึกฝนลักษณะนิสัยและทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมของเด็ก
3.4 ลักษณะของกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายสอดคล้องกับความต้องและความสนใจของเด็กแต่ละวัย โดยสอดแทรกการเล่นหรือเกมการศึกษา จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายและสนุกสนาน ทั้งนี้กิจกรรมควรมีความยากง่ายปะปนกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และมีความสมดุลของกิจกรรมลักษณะต่างๆ เช่น กิจกรรมในร่ม-กลางแจ้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหว-สงบ เป็นต้น
3.5 การจัดสภาพแวดล้อม เด็กทุกคนต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตภาพ กล่าวคือ เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเครื่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามวัย และความสนใจของเด็ก รวมทั้งเกิดความรู้สึกที่ดี อบอุ่น มั่นคง ด้วยการดูแล เอาใจใส่ แนะนำตักเตือนอย่างใกล้ชิด มีเหตุผลจากผู้ใหญ่และโอกาสที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันกับเด็กอื่นวัยเดียวกันหรือต่างวัยอย่างสม่ำเสมอ

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีพัฒนาการต่อจากวัยทารกอยู่ในช่วงอายุ 3 – 6 ปี ซึ่งนักจิตวิทยาและนักการศึกษา ต่างให้ความสำคัญกับเด็กในวัยนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และมีพัฒนาการทางด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสัดส่วนในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่มากขึ้น ความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ รวมถึงรูปแบบการคิดอ่าน การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ซึ่งโดยปกติเด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการที่สำคัญคือ (http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/c4.html)
1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น แขนและขาจะยาวออกไป ศีรษะจะได้ขนาดกับลำตัว โครงกระดูกแข็งแรงขึ้น เริ่มมีทักษะในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น รู้จัก การป้อนข้าวเอง แต่งตัวได้เอง ใส่รองเท้าและอาบน้ำได้ด้วยตนเอง ในปลายวัยเด็กตอนต้นฟันแท้จะเริ่มขึ้น 1-2 ซี่
2. พัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัยนี้มักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิด โกรธง่าย ดื้อรั้นเป็น
วัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธ และอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเอง เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนและมีเพื่อนเล่น แต่อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
3. พัฒนาการทางสังคม เริ่มรู้จักการคบเพื่อน เล่นกับเพื่อน ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน รู้จัก
การร่วมมือ การยอมรับฟัง เริ่มรู้จักการแข่งขันระหว่างกลุ่มเมื่ออายุ 4-5 ขวบ และมักเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน การเล่นกับเพื่อนนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง
4. พัฒนาการทางภาษา จะเป็นไปทีละขั้น เริ่มใช้ภาษาได้ดีพอสมควร รู้จักศัพท์เพิ่มขึ้น
รวดเร็ว เรียนรู้คำใหม่ๆมากขึ้น
บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต่อพัฒนาการทางภาษา

จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กในวัยนี้ ควรให้ความสนใจ เพื่อเป็นรากฐานในการนำความรู้ไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งบุคคลที่สำคัญกับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนครู อาจารย์ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็ก ได้เข้าใจและนำความรู้ไปปฏิบัติต่อไป
บทบาทของผู้ปกครอง
สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะพ่อและแม่ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนแรกของชีวิต โดยเด็กจะเรียนรู้ทักษะทางภาษาจากพ่อและแม่ทั้งจากการฟัง และการเลียนแบบการใช้ถ้อยคำต่างๆของบุคคลในครอบครัว ดังนั้น พ่อและแม่จึงควรปฏิบัติตนเพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะทางภาษาแต่ละด้าน ดังนี้
1. พ่อแม่ควรพูดให้ชัดเจน ออกเสียงให้ชัด พูดให้ถูกต้อง ไม่ล้อเลียนเด็กโดยการแกล้ง
พูดไม่ชัด หรือพูดภาษาของเด็ก และควรใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้นตามลำดับเพื่อความก้าวหน้าทางภาษาของเด็ก
2. พ่อแม่ควรใช้ภาษาให้เหมาะกับวัยของเด็กและควรพูดกับเด็กบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้
เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ได้มากขึ้น
3. พ่อแม่ควรแก้ไขข้อบกพร่องในการออกเสียงของเด็ก ทั้งในด้านการใช้คำและประโยค เพื่อกระตุ้นให้เด็กเลียนแบบแทนการดุว่า ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ความเครียด และอาจนำไปสู่การพูดติดอ่าง
4. พ่อแม่ควรให้เวลากับเด็กอย่างน้อยวันละประมาณ 15 นาที ในการอ่านหนังสือให้
เด็กฟัง โดยมีภาพประกอบ มีการสนทนาซักถามโต้ตอบ
5. จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ มีมุมหนังสือ หนังสือภาพ หนังสือนิทาน วิทยุและสื่ออื่นๆ
ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษา สนใจภาษา และมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น

บทบาทของครูปฐมวัย
เมื่อถึงเวลาเข้าสู่สังคมแห่งการศึกษาในโรงเรียน บุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้ “พ่อ” “แม่” นั่นคือ ครู เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ครูจะเป็นผู้ที่คอยให้ความรู้และรักษากฎระเบียบ โดย ครูเฉพาะการเป็นตัวแบบที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งครูมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. ความรู้ของครู หากครูมีความรู้เกี่ยวกับหลักการและวิธีการพัฒนาทักษะทางภาษาได้
ดีก็จะช่วยให้เข้าใจและเลือกวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้เหมาะสมกับระดับวุฒิภาวะ ทำให้การพัฒนาทักษะทางภาษาได้ดี
2. เจตคติของครู หรือความรู้สึกที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางภาษา ย่อม
แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และคำพูดให้เด็กทราบและมองเห็นคุณค่าของการฝึกทักษะต่างๆ นอกจากนี้ครูยังพยายามหาวิธีการสอนและเวลาสำหรับฝึกทักษะให้กับเด็กด้วยความสนใจ เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ
3. บุคลิกภาพและพฤติกรรมของครู เนื่องจากเด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากครู
ดังนั้น หากครูมีบุคลิกภาพโดยเป็นผู้ฟังที่ดี สนใจและตั้งใจฟังที่เด็กพูด เด็กก็จะเป็นคนที่มีมารยาทในการฟังที่ดี มีสมาธิในการฟัง
4. ความสามารถในการใช้ภาษาของครู หากครูมีความสามารถในการเลือกใช้คำ หรือ
ประโยคได้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะเป็นต้นแบบสำหรับเด็กได้
5. การสอนของครู ครูมีบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ถ้าครูจัด
กิจกรรมฝึกทักษะทางภาษาให้เด็กได้ครบตามความมุ่งหมายและประเภทของแต่ละทักษะแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็จะสมบูรณ์และมีประสิทธิผลสูง แต่ถ้าครูฝึกทักษะทางภาษาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่นำทักษะด้านอื่นๆ มาสัมพันธ์หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เด็กขาดทักษะทางภาษาบางด้าน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พัฒนาการทางภาษาของเด็กจะไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลักษณะของช่วงวัย หากขาดการได้รับการดูแลเอาใจใส่ ตลอดจนการได้รับรูปแบบการสอนในการเพิ่มทักษะทางภาษาที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ จากทางครอบครัวและจากโรงเรียน ซึ่งหากเด็กได้รับการอบรมและเพิ่มพูนทักษะอย่างเหมาะสมก็จะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมและมีรากฐานที่ดีในการเรียนรู้ทักษะต่างๆของชีวิตต่อไป






ปัญหาในการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัย

ปัญหาในการใช้ภาษาถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่สำคัญกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย เนื่องจาก ภาษาเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้สิ่งต่างๆของเด็ก ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาทิ อาการผิดปกติของระบบสมองและประสาท ที่บังคับควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด หูหนวกทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ผู้อื่นพูด เมื่อไม่ได้ยินเสียง เด็กจึงไม่สารถเลียนแบบเสียงผู้อื่นเพื่อฝึกพูดได้ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกาย อาการตึงเครียดทางอารมณ์ทำให้หมดความสนใจที่จะฝึกฝนการพูดก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่เกี่ยวข้อง
เด็กบางคนอาจมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งอาการพูดติดอ่างนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น
- เติบโตช้าผิดปกติ สมองช้า
- มีอารมณ์ประเภทต่างๆรุนแรงเกินสมควร เช่น ตื่นเต้น หวาดกลัว วิตกกังวล
เศร้าโศก เสียใจ ระวังตนเองมากเกินไป
- สมองคิดเร็วเกินกว่าที่จะพูดออกมาทัน
- ถูกล้อเลียนทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ประหม่า ไม่แน่ใจ เคร่งเครียด
เพราะถูกกวดขันอย่างเข้มงวด
พัฒนาทางภาษาของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการภาษาพูด มีลำดับขั้น ตั้งแต่วัยทารก จนสิ้นสุดระยะวัยเด็กตอนต้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexive Vocalization)
การใช้ภาษาของเด็กในระยะนี้ คือ ตั้งแต่คลอดถึงอายุหนึ่งเดือนครึ่ง เป็นแบบปฏิกิริยาสะท้อนเทียบเท่ากับภาษาหรือการสื่อความหมายของสัตว์ประเภทอื่นๆ เสียงนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติและไม่มีความหมายในขั้นแรก แต่เมื่ออายุราวหนึ่งเดือนล่วงแล้ว ทารกอาจเปล่งเสียงต่างกันได้ตามความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ง่วง หิว ฯลฯ
ขั้นที่ 2 ขั้นเล่นเสียง (Babbling Stage)
อายุเฉลี่ยของทารกในขั้นนี้ ต่อจากขั้นที่ 1 จนถึงอายุราว 8 เดือน อวัยวะในการเปล่งเสียงและฟังของทารก เช่น ปาก ลิ้น หู เริ่มพัฒนามากขึ้น เป็นระยะที่ทารกได้ยินเสียงผู้อื่นและเสียงตนเอง สนุกและสนใจลองเล่นเสียง (Vocal Play) ที่ตนได้ยิน โดยเฉพาะเสียงของตนเอง แต่เสียงที่เด็กเปล่งก็ไม่มีความหมายในเชิงภาษา ระยะนี้ทารกทุกชาติทำเสียงเหมือนกันหมด แม้เสียงที่เด็กเปล่งยังคงไม่เป็นภาษา แต่ก็มีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาการพูด เพราะเป็นระยะที่เด็กได้ลองทำเสียงต่างๆทุกชนิด เปรียบเสมือนการซ้อมเสียงซอของนักสีซอก่อนการเล่นซอที่แท้จริง
ขั้นที่ 3 ขั้นเลียนเสียง (Lalling Stage)
ระยะนี้ทารกอายุประมาณ 9 เดือน เขาเริ่มสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น นอกจากเล่นเสียงของตนเอง ระยะนี้ประสาทรับฟังพัฒนามากยิ่งขึ้น จนสามารถจับเสียงผู้อื่นพูดได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ประสาทตาจับภาพการเคลื่อนไหวของริมฝีปากได้แล้ว จึงรู้จักและสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น ระยะนี้เขาเลียนเสียงของตัวเองน้อยลง การเลียนเสียงผู้อื่นยังผิดๆถูกๆและยังไม่สู้จะเข้าใจความหมายของเสียงที่เปล่งเลียนแบบผู้ใหญ่ เด็กหูหนวกไม่สามารถพัฒนาทางด้านภาษามาถึงขั้นนี้ ขั้นนี้เป็นระยะที่ทารกเริ่มพูดภาษาแม่ของตน
ขั้นที่ 4 ขั้นเลียนเสียงได้ถูกต้องยิ่งขึ้น (Echolalia)
ระยะนี้ทารกอายุประมาณ 1 ขวบ ยังคงเลียนเสียงผู้ที่แวดล้อมเขา และทำได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เลียนเสียงตัวเองน้อยลง แต่ยังรู้ความหมายของเสียงไม่แจ่มแจ้งนัก
ขั้นที่ 5 ขั้นเห็นความหมายของเสียงที่เด็กเลียน (True Speech)
ระยะนี้ทารกอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ความจำ การใช้เหตุผล การเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ทารกได้รู้เห็นพัฒนาขึ้นแล้ว เช่น เมื่อเปล่งเสียง “แม่” ก็รู้ว่าคือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มชูดูแลตน การพัฒนามาถึงขั้นนี้เป็นไปอย่างบังเอิญ (ไม่ได้จงใจ) แต่ต่อมาจากการได้รับการตอบสนองที่พอใจและไม่พอใจ ทำให้การเรียนความสัมพันธ์ของเสียงและความหมายก้าวหน้าสืบไป
ในระยะแรก เด็กจะพูดคำเดียวก่อน ต่อมาจึงจะอยู่ในรูปวลีและรูปของประโยค ตั้งแต่ยังไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ไปจนถึงถูกหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ นักภาษาศาสตร์ได้ทำ การวิจัยทางเด็กที่พูดภาษาต่างๆทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันว่า พัฒนาการทางภาษาตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งถึงห้าข้างต้นอยู่ในระยะวัยทารก ส่วนระยะที่เด็กเข้าใจภาษาและใช้ภาษาได้อย่างอัตโนมัติเหมือนผู้ใหญ่นั้น อยู่ในระยะเด็กตอนต้นหรือช่วงปฐมวัยนั่นเอง ซึ่งพัฒนาการทางภาษาที่น่าสนใจก็คือ ความยาวของประโยค ยิ่งเด็กโตขึ้นก็จะยิ่งสามารถพูดได้ประโยคยาวขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถทางการใช้ภาษาของเด็กได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ หากจะพิจารณารูปแบบของพัฒนาการทางภาษาในรูปแบบเชิงพฤติกรรม สามารถอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยแบ่งออกได้เป็น 7 ระยะ ดังนี้ คือ
1. ระยะเปะปะ (Random Stage) อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ในระยะนี้พบว่าเด็กมี
การเปล่งเสียงอย่างไม่มีความหมาย
2. ระยะแยกแยะ (Jergon Stage) อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในระยะนี้เด็กจะเริ่มแยกแยะ
เสียงที่เขาได้ยินในสภาพแวดล้อมและแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจถ้าหากเปล่งเสียงแล้วได้รับการตอบสนองทางบวก
3. ระยะเลียนแบบ (Imitation Stage) อายุ 1 ถึง 2 ปี เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ
เสียงของเด็กที่เปล่งจะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น
4. ระยะขยาย (The Stage of Expansion) อายุ 2 ถึง 4 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มหัดพูดเป็น
คำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนาม เรียกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆที่อยู่รอบตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน
5. ระยะโครงสร้าง (Structure Stage) อายุ 4 ถึง 5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัย
นี้ดีขึ้นมาก ทำให้เด็กได้สังเกตการณ์ใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้าง และนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น การฟังนิทาน ดูรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
6. ระยะตอบสนอง (Responding Stage) อายุ 5 ถึง 6 ปี พัฒนาการทางภาษาของเด็ก
วัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล เด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยคอย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ การใช้ภาษามีแบบแผนมากขึ้น
7. ระยะสร้างสรรค์ (Creative Stage) อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนา
ความสามารถทางภาษาได้สูงขึ้น สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้น สำหรับด้านการพูด สามารถใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวน หรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้

ระยะของพัฒนาการทางภาษาแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่เด็กจะสามารถพูดคำแรกออกมา เช่น “แม่” “ป้อ” ฯ จนกระทั่งสามารถพูดเป็นประโยคได้นั้น เด็กต้องผ่านกระบวนการสำคัญของพัฒนาการหลายขั้นตอน ทักษะทางภาษาขั้นแรกของเด็ก คือ การร้องไห้ แม้ว่าระยะแรกเด็กจะยังไม่สามารถพูดได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการสูญเปล่า แต่เด็กกำลังฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อปากและลิ้นให้ทำงานประสานกัน สังเกตเห็นได้จากทารกแบเบาะจะอ้าปาก ขยับปากบ่อยครั้ง รวมถึงแลบลิ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดในอนาคต ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของเด็กก่อนการพูด คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งกระบวนการนี้ เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงแรกๆของชีวิต และเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน เด็กก็สามารถใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ โดยอาจใช้วิธีการทำเสียงต่างๆประกอบ จากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้น พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการพูด การเรียนรู้คำศัพท์ เป็นต้น
การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)
สำหรับเด็กปฐมวัย

            ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
            สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
            การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง  2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ

            การทำงานของสมอง
            สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
            สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง
            จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
            สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย
            นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต

การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน
            หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  
            1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ
            2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น   
            3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข 
            4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
            5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี
            6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา
            7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม 
            8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

               กระบวนการจัดการเรียนรู้
            เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ  ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา  บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม

ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
1.      ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 
     ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน
               การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ
                    
                       ฉันฟัง  ฉันลืม
                        ฉันเห็น  ฉันจำได้
                        ฉันได้ทำ  ฉันเข้าใจ

            2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด
          3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา


สารอาหารบำรุงสมอง
           อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง
           ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง
           ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว
ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น
           ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง
           วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
           ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง
           ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้
           การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  

               เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล
               ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย   ลูกไม่เข้าใจ  ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย 
               รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก  แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ  แสดงความใส่ใจต่อลูก  นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ
            คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี