วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมนูน่าหม่ำ

สร้างเด็กให้มีสุขภาพดี...เมนูเพื่อลูกรัก

วงจรชีวิตของมนุษย์เริ่มตั้งแต่วัยเด็กทารก มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เรียกกันง่าย ๆ ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งวัยเด็กเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุด เพราะจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ที่อยู่ในช่วงอายุ 3 - 5 ขวบ เป็นวัยที่ถือว่า "วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่มีการเปลี่ยน แปลงจากวัยทารก ก้าวสู่ความพร้อมที่จะเรียนรู้ สังคมภายนอกที่กว้างออกไป จากสังคมปิดภายในครอบครัว ดังนั้นเราจึงควร สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กของเรา เพื่อไปเผชิญต่อสภาวะภายนอกบ้าน โดยเริ่มที่เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องแรก เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญ
1. อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญ แม้จะเร่งรีบสักปานใด ก็ต้องกินอาหารเช้า เพราะเป็นอาหารมื้อที่มีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาควรเตรียมให้ พร้อม เด็กหลายคนต้องตื่นแต่เช้า อาจยังไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหาร ควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากรับประทาน ทำอาหารที่เด็กชอบ และสร้างสรรค์เมนูใหม่ ไม่ให้เกิดความจำเจ
2. ฝึกให้เด็กมีนิสัยชอบกินผัก ซึ่งเรื่องของการกินผักกับเด็กค่อนข้างจะเป็นปัญหาใหญ่ เด็กหลายๆคนมักไม่ชอบผักเอาเลย เราลองย้อนมาดูสาเหตุกันซิว่าทำไมเด็กไม่ชอบ ซึ่งจะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วที่ไม่ชอบก็เพราะว่า ผักมีกลิ่นแรง รสไม่อร่อย ฉะนั้นการเริ่มต้นฝึกการกินผักโดยเลือกผักที่มีสีและน่าตาน่ารับประทาน เช่น แครอท ดอกกะหล่ำ แตงกวา บรอกโคลี เป็นต้น ใส่ลงไปชิ้นเล็ก ๆ ในอาหารก่อน เช่น ในข้าวผัด ซุป แกงจืด เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหารที่เด็กชอบ เอาไปชุบแป้งทอด ผสมในหมูสับทอด หรือนำไปลวกให้กลิ่นหายไปบ้าง นำมาคลุกเนยหรือ น้ำตาลเล็กน้อยเป็นการปรับรสชาติหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ แช่เย็นจะทำให้มีความกรอบที่เด็กชอบ
3. สร้างนิสัยช่วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น แปรงฟัน ทานข้าว แต่งตัว โดยผู้ปกครองคอยแนะนำ คอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเท่านั้น ในครั้งแรกอาจทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน จำไว้นะค่ะ ผิดถูกไม่เป็นไร ช่วยอยู่ห่าง ๆ คอยสอน คอยให้กำลังใจ อย่างใจเย็นๆในที่สุดเด็กน้อยของเราก็จะทำได้
4. เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากเพื่อนวัยเดียวกัน การทำเช่นนี้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่สำคัญ เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักปรับตัว
5.ประการสุดท้าย ขอย้อนกลับมาที่เรื่องอาหารที่ไม่ควรมองข้าม เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักติดใจรสหวานและซ่าของน้ำอัดลม ในน้ำอัดลมจะประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรให้เด็กหลีกเลี่ยง

อย่าลืมนะค่ะ เด็กมักทำตามผู้ใหญ่ฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคนในบ้านต้องทำเป็นตัวอย่าง
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนสำหรับการสร้างเด็กให้มีสุขภาพดี และมีตำรับอาหารเด็กมาฝากกันเช่นเคย 2 ตำรับค่ะ ลองเอาไปทำให้เด็ก ๆรับประทานกันนะค่ะ




หมูม้วนสาหร่ายไข่กุ้ง

ส่วนผสม
หมูบด 1 ถ้วยตวง
กุ้งสับ 1 ถ้วยตวง
ไข่กุ้ง ¼ ถ้วยตวง
รากผักชีกระเทียมพริกไทยโขลกละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
ซอสหอยนางรม 2 ช้อนชา
แผ่นสาหร่าย
แครอท บรอกโคลี มะเขือเทศ
วิธีทำ
1.ผสมหมูบด กุ้งสับ รากผักชีกระเทียมพริกไทย ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย ซอสหอยนางรมและแป้งข้าวโพด นวดให้เข้ากัน พักไว้ 10 นาที
2.วางแผ่นสาหร่ายบนเขียง ตักส่วนผสมในข้อที่1 ทาให้ทั่วแผ่นแล้วทาทับด้วยไข่กุ้งม้วนเป็นแท่ง
3.นำไปนึ่งจนสุก ยกลงพักให้เย็นจึงมาหั่นชิ้นเสิร์ฟกับน้ำจิ้มและผักตามชอบ








ผลไม้ถ้วยซี๊ด

ส่วนผสม
แอปเปิลสีเขียว สีแดง 1 ถ้วยตวง
สับปะรด 1 ถ้วยตวง
องุ่น 1 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว ¼ ถ้วยตวง
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
ไข่เป็ดต้มสุก 12 ฟอง
เบคอนหั่นสี่เหลี่ยมเล็กทอกกรอบ ½ ถ้วยตวง
ขนมปังกรอบ
เกลือป่น

วิธีทำ
1.เตรียมผลไม้โดยหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก แช่น้ำเย็นผสมเกลือป่นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ผลไม้ดำตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ
2.ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน
3.ไข่เป็ดต้มนำมาปอกเปลือกตัดด้านบนและควักไข่แดงออก
4.ตักผลไม้กับเบคอนที่เตรียมไว้ใส่ลงในไข่
5. เวลาเสิร์ฟจึงใส่น้ำยำลงไปเสิร์ฟทันทีกับขนมปังกรอบ

โรคไอพีดีในเด็ก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มรู้จักโรคไอพีดี จากสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้นได้ทราบถึงความรุนแรงของโรคซึ่งสามารถทำอันตรายถึงขั้นเสีย ชีวิต ดังนั้นเราจะนำท่านไปรู้จักกับการป้องกันและตัวช่วยในการปกป้องลูกน้อยจาก โรคร้ายนี้


โรคไอพีดีคืออะไร
โรค ไอพีดี (IPD=Invasive Pneumococcal Disease) คือโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมอง หรือปอด จึงเรียกว่า Invasive (แพร่กระจาย) Disease

เชื้อนิวโมคอคคัสมาจากที่ไหนและสำคัญอย่างไร
เชื้อ นิวโมคอคคัสพบได้ในจมูกลำคอ ของคนทุกเพศทุกวัย เชื้อสามารถกระจายจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ ได้ โดยละอองฝอยน้ำลายเมื่อไอ จาม เมื่อสูดอากาศที่มีเชื้อนี้เข้าไป จะทำให้เกิด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ แต่ถ้าเชื้อแพร่กระจายมากก็จะเข้าสู่กระแสเลือด หรือเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ได้รับเชื้อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว เชื้อนี้จะเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น ความรุนแรงก็ขึ้นกับผู้รับเชื้อว่าแข็งแรงดีไหมตัวเชื้อจำนวนมากหรือร้ายแรง แค่ไหน และภาวะแวดล้อมของผู้ได้รับเชื้อเช่นไม่พักผ่อน ไม่ได้อาหารที่มีคุณภาพ โรคที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกันเชื้อนี้
- เมื่อ ไอ จาม ต้องปิดปากจมูกเพื่อป้องกันเชื้อกระจายไปสู่ผู้อื่น
- ถ้าป่วยพยายามอย่าไปที่มีคนมากหรือที่อากาศไม่ถ่ายเท เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
- ฉีดวัคซีนป้องกัน

การป้องกันด้วยวัคซีนไอพีดี
วัคซีน ไอพีดี สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากได้รับเชื้อ แต่เนื่องจากเด็กเล็กจะมีการสร้างภูมิได้ไม่ดีเท่าเด็กโต จึงต้องฉีดหลายเข็ม คือ อายุ 2-6 เดือน 4 เข็ม, 6 เดือน - 1ปี 3 เข็ม, 1ปี - 2ปี 2 เข็ม, มากกว่า 2 ปี 1 เข็ม

แม้วัคซีนจะมีราคาสูง แต่ก็คุ้มค่ากับชีวิตของลูกน้อยของท่าน

เรื่องน่ารู้เพื่อคุณแม่

8 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก

เด็ก เล็กมีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้น เรื่องสุขภาพร่างกายของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริม สร้างความแข็งแรงให้ลูกน้อย ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
. กินนมแม่สารอาหารต้นทุน ที่สำคัญและดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ก็คือนมแม่ ที่นอกจากไม่เสียเงินทองแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องภูมิต้านทาน เพราะทารกช่วงแรกเกิด-1 ปี ระบบการพัฒนาภูมิคุ้มกันอาจยังไม่สมบูรณ์ โอกาสการติดเชื้อโรคเกิดได้ง่ายกว่าเด็กโต การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วย การแพ้นมวัว และเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างแม่ลูก
2. อาหารเสริม
ลูกน้อยมีพัฒนาการ การเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนไหวมากขึ้นตามช่วงวัย จึงควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ได้กินอาหารครบ 5 หมู่และหลากหลาย (ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง) เพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้ถึงรสชาติ ลักษณะอาหารที่ต่างจากนมแม่ และฝึกทักษะเรื่องการกินอาหารที่เหมาะสม
3. สร้างภูมคุ้มกันด้วยวัคซีน
การฉีดวัคซีน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานในเบื้องต้นตามที่กระทรวง สาธารณสุขกำหนด ส่วนวัคซีนทางเลือกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สุขภาพของลูก และความต้องของคุณพ่อคุณแม่
4. สุขอนามัยที่ดี
ความสะอาด เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย คุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นทุกชนิด ที่ลูกสัมผัสอยู่เสมอ เพื่อกำจัดและป้องกันเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ที่ควรดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยส่วนตัว เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เข้าห้องน้ำ เป็นต้น
5. ใส่ใจสภาพแวดล้อม
ช่วง ที่อากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็ทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณแม่ ไม่สบายเนื้อสบายตัว ออกอาการโยเยได้ คุณจึงควรเตรียมพร้อม หาทางรับมือ ป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพลูก ในแต่ละช่วงฤดูกาลไว้ก่อน เช่น ช่วงหน้าฝนควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุม ให้ความอบอุ่นแก่ลูก ส่วนหน้าร้อน ก็ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนเกินไป ใส่เสื้อผ้าบางๆ เพื่อช่วยระบายอากาศ
6. นอนหลับเพียงพอ
ในช่วงที่ลูกนอนหลับสนิท ร่างกายจะหลั่ง Growth Hormones ออกมา ซึ่งทำให้ร่างกายลูกน้อยเจริญเติบโตตามปกติ และขณะที่ลูกน้อยหลับ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ ฉะนั้น การสร้างบรรยากาศภายในห้องนอนที่เหมาะสม ไม่รบกวนการนอนของลูก ก็มีส่วนช่วยต้านโรคเช่นกัน
7. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายของเด็กวัยนี้ อาจจะยังไม่มีรูปแบบชัดเจนนัก ถ้าเด็กคนไหนแอคทีฟ เคลื่อนไหวบ่อย ก็เท่ากับเป็นการออกกำลังทางหนึ่ง แต่ถ้าเด็กคนไหนเจ้าเนื้อ อาจจะไม่ค่อยชอบเคลื่อนไหวเท่าใดนัก ให้คุณพ่อคุณแม่คอยกระตุ้นด้วยการเล่นกับลูก หลอกล่อให้ลูกอยากจะคว่ำ คลาน เดิน ตามช่วงพัฒนาการ เพื่อให้ลูกออกกำลังแขน ขา เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย สร้างความกระฉับกระเฉง ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดีและแข็งแรง
8. เสริมวัคซีนทางใจ
ข้อนี้ยกให้เป็นเรื่องปฏิบัติของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ด้วยการเตรียมจิตใจ อารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ เพราะอารมณ์ และจิตใจของคุณส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อย ยิ่งคุณอารมณ์ดี มีความสุขกับการเลี้ยงลูก ก็เท่ากับคุณได้สร้างความสุข เสริมภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูกน้อยแล้วค่ะ



ความรู้เมื่อเด็กอยากสูง

เมื่อเด็กอยากสูง

บุตรของท่านมีปัญหาต่อไปนี้หรือไม่
• ตัวเล็กมาตลอดเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน
• เติบโตช้ามาก ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 4 ซม. ต่อปี
• เพื่อนรุ่นเดียวบางคนที่เตี้ยกว่าหรือสูงพอๆ กัน ตอนนี้สูงกว่า
• ตัวเล็กมากทั้งที่บิดามารดาสูง

"หากมี ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กมีอาการซึมเศร้า โดนเพื่อนแกล้ง หรือการเรียนแย่ลง เนื่องจากโรคเตี้ยบางสาเหตุมีทางแก้ไขได้หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ"


การเจริญเติบโตในเด็กผิดปกติจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม

แม้การเจริญเติบโตของคนจะเป็นไปตามพันธุกรรมก็ตาม แต่การที่เด็กจะมีการเจริญเติบโตที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆดังต่อไปนี้ มีภาวะโภชนาการดีและเหมาะสม มีสุขภาพทางจิตใจและอารมณ์ดี ปริมาณฮอร์โมนปกติ
และสามารถออกฤทธิ์ได้ปกติไม่มีโรคเรื้อรังทางกายอื่นๆ มีการออกกำลังกายและ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และประการสุดท้ายไม่มีความผิดปกติที่จะส่งผลทำให้มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ของกระดูก เช่น ยาหรือสารเคมีจากภายนอก

จะทราบอย่างไรว่าเด็กตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์หรือเติบโตช้าผิดปกติ

การประเมินการเจริญเติบโตว่าปกติหรือไม่ ทำได้โดยการเอาส่วนสูงของเด็กจุดลงบนกราฟมาตรฐานน้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กไทยที่อายุและเพศเดียวกัน และพบว่าต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3 ก็ถือว่าเตี้ย และติดตาม อย่างต่อเนื่องเพื่อดูลักษณะกราฟการเจริญเติบโต กรณีที่ส่วนสูงไม่ต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3


แต่หากพบว่า มีการเบี่ยงเบนจากเปอร์เซนต์ไทล์เดิมไปในทิศทางที่ต่ำลงก็ถือว่าผิดปกติเช่นกัน แต่ทั้งสองวิธีต้องมีกราฟ มาตรฐาน อีกวิธีที่สะดวกคือดูอัตรการเจริญเติบโตในระยะที่ผ่านมา เด็กวัยเรียนอายุ 4-9 ปีจะเติบโตประมาณ 5 ซม.ต่อปี

ซึ่งสามารถหาดูได้จากสมุดพกนักเรียน เด็กที่สงสัยว่าจะมีการเจริญเติบโตผิดปกติควรได้รับการ ตรวจ วินิจฉัยโดยแพทย์แต่เนิ่นๆ เนื่องจากบางภาวะสามารถให้รักษาได้และได้ผลดีกว่าหากรักษาตั้งแต่อายุ น้อยๆ ไม่ ควรรอจนอายุมาก หรือจนมีลักษณะเป็นหนุ่มสาวจึงค่อยมาพบแพทย์เพราะทำให้การรักษาไม่ได้ ผลดีเท่าที่ควร หรือไม่ได้เลย

ข้อมูลที่ควรนำไปด้วยเมื่อพบแพทย์

ส่วนสูงที่เคยวัดไว้ในสมุดพกนักเรียน นอกจากนี้ควรมีส่วนสูงบิดา-มารดา ผู้ที่นำเด็กไปพบแพทย์ควรเป็น บิดา-มารดาหรือคนใดคนหนึ่ง เพราะแพทย์จะซักรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและประวัติอดีตของ เด็กด้วย หากแพทย์พบว่าเด็กเตี้ยหรือเติบโตช้าจริง


แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยก สาเหตุทางกายอื่นๆที่ชัดเจนออกไป หากพบว่ามีข้อบ่งชี้หรือสงสัยว่าจะมีความผิดปกติทางฮอร์โมน แพทย์ จะนัดตรวจทางห้องปฎิบัติการต่อมไร้ท่ออีกครั้งหนึ่ง

ฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตหลังคลอด

ฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตหลังคลอด ได้แก่ อินซูลิน ฮอร์โมนเติบโต ธัยรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์ โมนเพศ ฮอร์โมนที่พบบ่อยถ้าขาดและทำให้การเจริญเติบโตช้า


ได้แก่ ฮอร์โมนเติบโต ธัยรอยด์ฮอร์โมน "เด็กเตี้ยที่มีสาเหตุจากขาดฮอร์โมนเติบโตและธัยรอยด์ฮอร์โมนสามารถรักษาได้ผลดีหากตรวจพบ และ รักษาแต่เนิ่นๆ

การตรวจความผิดปกติที่เกิดจากการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน

ทำได้ง่ายเพียงเจาะเลือดตรวจหาระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนเพียงครั้งเดียว หากพบว่าขาดจริงการรักษาทำโดย การให้ฮอร์โทนทดแทนทางปาก

การตรวจหาความผิดปกติที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเติบโต

การตรวจหาระดับฮอร์โมนเติบโตแตกต่างไปจากการเจาะเลือดโดยทั่วๆไป จำเป็นต้องให้ยากินหรือฉีดยา กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเติบโตก่อน ดังนั้นคนไข้ต้องงดอาหารก่อนวันทดสอบ

ระหว่างการทดสอบคนไข้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาล และแพทย์โดยใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าผลการทดสอบสามารถแปลผลได้ แม่นยำ คนไข้บางรายอาจต้องทำการทดสอบ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้ขาดฮอร์โมนนี้จริงๆ

การรักษาคนไข้ที่ขาดฮอร์โมนเติบโต ทำโดยการฉีดฮอร์โมนเติบโตเข้าใต้ผิวหนัง

คนไข้ที่จะตอบสนองดีต่อการให้การรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนเติบโต คือคนไข้ที่ขาดฮอร์โมนเติบโตจริงๆ หากขาดมากจะตอบสนองดีกว่ารายที่ขาดไม่มาก ดังนั้นก่อนให้ฮอร์โมนเติบโตจึงจำเป็นต้องทำการทดสอบ ทุกราย

ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา

การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเติบโตจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มให้การรักษา ความรุนแรงของการ ขาดฮอร์โมน ขนาดของฮอร์โมนที่ให้ วิธีการให้ และระยะเวลาที่ได้รับการรักษา การรักษาจะได้ผลดีหากให้ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

โดยสรุปเด็กที่มีปัญหาเติบโตช้าหรือตัวเตี้ย ควรนำเด็กไปพบแพทย์ก่อนที่เด็กจะมีลักษณะเข้าวัยหนุ่มสาว นำส่วนสูงของที่วัดไว้ก่อนหน้านี้ในสมุดวัคซีนและสมุดพกนักเรียนไปด้วย หากไม่มีสมุดวัคซีนหรือสมุดพก สามารถขอบันทึกการวัดได้จากสถานพยาบาลหรือโรงเรียนโดยตรง
ส่วนสูงของบิดาและมารดา อายุที่เริ่ม เข้าวัยหนุ่มในบิดา(ถ้าหากจำได้) และอายุที่เริ่มมีประจำเดือนในมารดา บิดาและหรือมารดาควรไปกับเด็ก ด้วยเพื่อให้ประวัติเด็กกับแพทย์ผู้ดูแล เพื่อฟังคำแนะนำและแนวทางในการตรวจรักษา นอกจากนี้เด็กบาง รายอาจต้องการความช่วยเหลือดูแลจากแพทย์ทางจิตเวชเด็กอีกด้วย


สามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น/ กัลญา

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของร่างกายและแบบแผนของร่างกายทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆเป็นขั้นตอน จากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เด็กมีลักษณะและความสามารถใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา (สุชา จันทน์เอม ,2542 : 40 )
พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งเข้าสู่อายุ 3-6 ปี ซึ่งมีลักษณะพิเศษกว่าประสบการณ์ในช่วงวัยอื่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้นอย่างผสมผสานในช่วงเวลาเดียวกันและสามารถสังเกตเห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างชัดเจน ซึ่งอัตราในการเปลี่ยนแปลงของเด็กแต่ละคนอาจมีอัตราการเปลี่ยนแปลงช้า เร็วแตกต่างกัน แต่ส่วนมากแล้วพฤติกรรมก็มักจะเป็นไปตามแบบแผนและมีรูปแบบทิศทางเดียวกัน
หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ โดยยึดหลักของพัฒนาการมนุษย์ ดังนี้
1.1 องค์ประกอบของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ
1.1.1 วุฒิภาวะ (Maturation) หมายถึง สภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นถึงระดับการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเด็กแต่ละคน ในระยะใดระยะหนึ่งที่กำหนดตามวิถีทางของธรรมชาติ และนำมาซึ่งความสามารถกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เหมาะสมกับวัย ศักยภาพที่เด็กแสดงออกมาในเวลาอันสมควรนี้ หรือที่เรียกว่าระดับวุฒิภาวะ (Maturity) มีอยู่ในตัวเด็กตั้งแต่กำเนิดและถูกกำหนดโดยพันธุกรรมด้วยเหตุนี้ระดับวุฒิภาวะของเด็กที่จะแสดงความสามารถอย่างเดียวกัน อาจแสดงออกมาในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ เช่น โดยทั่วไปเด็กจะวาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้ ประมาณอายุ 4 ปี เด็กบางคนอาจจะทำได้เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์นี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือ และความสัมพันธ์ของมือและตา รวมทั้งทักษะการรับรู้เกี่ยวกับรูปร่าง
1.1.2 การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ที่ดีรับ หรือจากการปฏิบัติ อบรมสั่งสอน และการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความต้องการและความสนใจของเด็ก ทำให้ความสามารถต่างๆ ของเด็กถูกนำออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งนี้การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีขอบเขตจำกัดทั้งช่วงเวลา ความสนใจที่สั้นและเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบของการเล่น ที่เด็กได้ลงมือกระทำ ศึกษาค้นคว้า สำรวจสิ่งรอบตัวตามความพอใจของตนเองและเก็บสะสมเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล เช่น เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือนิทานและของเล่น รวมทั้งมีผู้ปกครองที่เอาใจใส่เล่านิทานหรือแนะนำการอ่าน มักจะเรียนรู้การอ่านได้อย่างรวดเร็ว กว่าเด็กที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
พัฒนาการของเด็กปฐมวัย เป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวุฒิภาวะและการเรียนรู้ กล่าวคือ วุฒิภาวะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการเรียนรู้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความสามารถบางอย่างอาจไม่เกิดขึ้นหรือเกิดช้ากว่าที่ควรได้ เช่น ความสามารถในการใช้ภาษา เด็กที่มีวุฒิภาวะในการพูด จะสามารถเปล่งเสียงพูดออกมาได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รับการสอนภาษาพูดก็จะใช้ภาษาพูดไม่ได้เลย ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะในการพูด ถึงแม้ว่าจะได้รับการเคี่ยวเข็ญฝึกภาษาพูดมากสักเพียงใด ก็ไม่อาจพูดได้ ถ้าเด็กยังไม่พัฒนาถึงวุฒิภาวะนั้น จึงเห็นได้ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามกำหนดเวลาเฉพาะของพัฒนาการนั้นๆ โดยธรรมชาติ อันก่อความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามขั้นตอนของพัฒนาการ โดยมีสภาพแวดล้อมช่วยเสริมต่อพัฒนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่เด็กสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่นี้ เรียกว่าระยะพอเหมาะ (Optimal Period) ลักษณะพฤติกรรมที่เด็กสามารถแสดงออกเมื่ออยู่ในขั้นพัฒนาการนั้นๆ เรียกว่า พัฒนาการตามวัย (Developmental Task) เด็กที่แสดงพฤติกรรมตามขั้นพัฒนาการได้พอเหมาะกับวัย จะถือว่ามีพัฒนาการสมวัย
1.2 แบบแผนของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกคนเปลี่ยนแปลงไปตามแบบแผนเดียวกัน คือ
1.2.1 แบบแผนของพัฒนาการ เด็กปฐมวัยทุกคนมีลำดับขั้นของพัฒนาการเหมือนกัน เปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีทิศทางก้าวหน้าโดยไม่ข้ามขั้น และไม่มีการหยุดนิ่งอยู่กับที่ พัฒนาการในขั้นต้นจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในขั้นต่อไปที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ความสามารถในการวาดรูป เด็กเล็กจะสามารถใช้กล้ามเนื้อแขนและมือในการเคลื่อนไหวลากเส้นโยงไปมาอย่างไม่ทิศทาง จนสามารถบังคับกล้ามเนื้อนิ้วได้มากขึ้นในการควบคุมการลากเส้นอย่างมีทิศทางตามความต้องการและสามารถวาดรูปคล้ายของจริงได้ในที่สุด
1.2.2 การเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดเจน สามารถวัดได้ โดยเฉพาะการเพิ่มขนาดของรูปร่างและอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อเด็กอายุมากขึ้นและได้รับสารอาหารที่เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย ขนาดของร่างกายก็จะขยายใหญ่ขึ้น สาวนสูงและน้ำหนักก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งการแสดงออกถึงขีดความสามารถในด้านต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย เช่น การเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น ความจำเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นต้น ในช่วงปฐมวัยนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูและกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กมีรูปร่างผอมและสูงขึ้น
1.2.3 การเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนเกี่ยวข้องกับกลไกในการทำงานภายในร่างกายที่ก่อให้เกิดความสามารถใหม่ๆ เช่น ก่อนที่จะใช้คำพูดสื่อความหมายคล้ายผู้ใหญ่ได้ จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนเกี่ยวกับการใช้ภาษา เช่น การฟัง การเปล่งเสียง การแยกความแตกต่างของเสียง การเลียนเสียง การเรียนรู้ความหมายและอื่นๆมาเป็นลำดับ
1.2.4 ความสัมพันธ์ของพัฒนาการแต่ละด้าน พัฒนาการของเด็กเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายด้านผสมผสานกัน พัฒนาการทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ สังคม สติปัญญา มีความสำคัญเสมอภาคและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด การเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้พัฒนาการด้านอื่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งในทางบวกและทางลบ เช่น เด็กที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีอารมณ์แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์ เข้ากับผู้อื่นได้ดี และมีความสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว ในทางตรงกันข้าม เด็กที่สุขภาพไม่ดี มักประสบปัญหาด้านการเจริญเติบโตของร่างกายล่าช้า หรือหยุดชะงักชั่วขณะหนึ่ง อารมณ์หงุดหงิด มีอาการเศร้าซึม ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นยาก และขาดสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
1.2.5 ลักษณะเด่นของพัฒนาการ แต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงตามขั้นตอนของพัฒนาการ ลักษณะบางอย่างอาจพัฒนาเร็วกว่าลักษณะอื่นและสังเกตเห็นเด่นชัดได้ เช่น ในช่วงอายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มรับรู้และสังเกตความแตกต่างทางเพศ เมื่ออายุ 4 ปี จะช่างซักถาม สนใจเล่นร่วมกับผู้อื่น พออายุ 5 ปี จะชอบความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ลักษณะเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เมื่อเด็กอายุมากขึ้นก็จะพัฒนาไปตามวุฒิภาวะและจากมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่ได้รับ
1.2.6 ความคาดหวังของพัฒนาการ พัฒนาการมนุษย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีขั้นตอนและได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอน จึงสามารถทำนาย คาดหวังความสามารถและพฤติกรรมตามขั้นพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็กอย่างคร่าวๆ ได้ ทั้งนี้เมื่อเด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างเหมาะสมตามวุฒิภาวะและความพร้อม พัฒนาการก็สามารถดำเนินไปด้วยดีสมวัย หากมีอุปสรรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงใดของพัฒนาการ ก็ย่อมส่งผลต่อแบบแผนพัฒนาการขั้นต่อไปให้หยุดชะงักเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติและอาจส่งผลระยะยาวไปจนตลอดชีวิตได้
1.2.7 ความเสื่อมของพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา มีทั้งการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะหรือความสามารถใหม่ๆ และความเสื่อมหรือการสูญเสียคุณลักษณะหรือความสามารถเดิมบางอย่าง เช่น เด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนจึงเกิดฟันแท้เข้ามาแทนที่ เด็กจะพูดเสียงอ้อแอ้ที่ฟังไม่รู้เรื่องก่อนจึงพูดชัดเจนขึ้นมาในช่วงบั้นปลายของชีวิต การเสื่อมมีมากกว่าการพัฒนา
1.3 ลักษณะของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้นและมีทิศทางการพัฒนาที่แน่นอน คือ
1.3.1 พัฒนาการด้านร่างกาย หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางร่างกายเริ่มต้นจากส่วนบนไปสู่ส่วนล่าง (Cephalous – Caudal Development) และจากแกนกลางไปสู่ส่วนข้าง (Proximal-Distal Development) สำหรับความสามารถทางการเคลื่อนไหวร่างกายจะพัฒนาทักษะทางการเคลื่อนไหวทั่วไป ไปสู่การเคลื่อนไหวแบบเจาะจง
1.3.2 พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก จะพัฒนาจากการรับรู้ความรู้สึกทั่วไปไปสู่ความรู้สึกที่ละเอียดลึกซึ้ง จากการรับรู้ความรู้สึกของตนเองไปสู่การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น
1.3.3 พัฒนาการด้านสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการติดต่อและสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น จะพัฒนาจากความผูกพันใกล้ชิด พึ่งพาพ่อแม่ในครอบครัว ไปสู่การพึ่งตนเอง และการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
1.3.4 พัฒนาการด้านสติปัญญา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถทางการรู้คิด จะพัฒนาจากการรับรู้ด้วยประสามสัมผัสและการรู้คิดเชิงรูปธรรม (Concrete Thought) ไปสู่ความเข้าใจในการใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Thought) แล้วจึงรู้จักคิดเป็นนามธรรม (Abstract Thought) รวมทั้งความคิดที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric Thought) ไปสู่การใช้ความคิดที่มีเหตุผล (Reasoning)
1.4 อัตราของพัฒนาการ ขีดความสามารถตามพัฒนาการของเด็กปฐมวัยแต่ละคนจะเร็วหรือช้ากว่าอัตราที่เป็นเกณฑ์ปกติได้และมีความแตกต่างกัน คือ
1.4.1 ความแตกต่างภายในบุคคล (Intra-Individual Differences) ธรรมชาติได้กำหนดให้พัฒนาการของระบบและส่วนต่างๆของร่างกายภายในตัวเด็กแต่ละคน มีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากันในช่วงอายุหนึ่งๆ ของบุคคลนั้นเช่นกัน ในช่วงวัยทารก พัฒนาการทางร่างกายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาในช่วงปฐมวัย พัฒนาการของสมองอยู่ในอัตราสูงกว่าการเจริญเติบโตของอวัยวะอื่นๆ เป็นต้น
1.4.2 ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Inter-Individual Differences)แม้ว่าเด็กทุกคนจะมีแบบแผนของพัฒนาการเหมือนกันและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ความสามารถที่จะพัฒนาให้ไปถึงจุดเดียวกันเมื่ออายุเท่ากัน อาจแตกต่างกันได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากระดับวุฒิภาวะที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับจากสภาพแวดล้อม จะเป็นตัวกระตุ้นหรือขัดขวางศักยภาพ การแสดงความสามารถของเด็กแต่ละคน
จากความรู้ทางด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัยนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาการเด็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวมีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กก็จะเป็นข้อมูลความรู้ในการนำไปใช้เพื่อการพัฒนา ตลอดจนประยุกต์ความรู้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการพัฒนาเด็กต่อไป

  สำหรับบทความนี้นะคะ  ก็ได้ความารู้เกี่ยวกับเรื่องหลักการพัฒนาการสำหรับเด็ก เป็นแนวทางที่เราจะสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กได้อย่างถูกต้องค่ะ