วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เด็กน่ารัก หนูน้อยลีลาสเก็ต โฆษณา

แม่จ๋า...หนูถ่ายไม่ออก

ปัญหาท้องผูกในเด็กนั้นมีหลายระดับครับ ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงรุนแรง เช่นร้องเจ็บเวลาอุจจาระ จนถึงเป็นแผลปริแตกที่ทวารหนัก มีเลือดมาเป็นสายๆ หรือเคลือบก้อนอุจจาระออกมา
• อย่างไรถึงเรียกว่าท้องผูก
เกณฑ์ที่ใช้โดยทั่วไปคือถ่ายอุจจาระแข็งทุก 3 วัน แต่ปัญหานี้อาจเริ่มตั้งแต่ลูกวัยทารกอายุ 1-2 เดือนซึ่งคุณแม่มือใหม่มักกังวลก็คือลูกน้อยไม่ยอมถ่ายเพียง 1-2 วันก็ไม่ค่อยสบายใจแล้ว บางคนสวนอุจจาระให้ลูก ซึ่งปกติแล้วไม่แนะนำให้ทำครับ ถ้าจะทำควรมีข้อบ่งชี้ และทำโดยแพทย์ เพราะการสวนอุจจาระเด็กจะเป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แท้ที่จริงแล้ว สำหรับเด็กทารกบางคน ถ้าถ่ายอุจจาระไม่แข็ง 4 วันถ่ายครั้ง ก็อาจถือว่ายังปกติอยู่ครับ บางครั้งเกิดกับเด็กทารกที่กินนมแม่ก็ได้ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว นมแม่ย่อยง่าย เด็กทารกที่กินนมแม่จะถ่ายค่อนข้างบ่อย เช่นวันละ 3-5 ครั้ง อุจจาระอาจเหลวบ้าง เป็นเม็ดเล็กๆ ปนน้ำบ้าง แต่อย่างไรก็ตามมีทารกที่กินนมแม่บางคน 3-4 วันจึงจะถ่ายครั้งก็มีให้เห็นบ้าง
ดังนั้นถ้าลูกซึ่งอายุ 1-2 เดือน ท้องผูก อาจลองทำตามขั้นตอนนี้
- ลองเปลี่ยนยี่ห้อของนมผสมดู เนื่องจากเด็กบางคน พอเปลี่ยนสูตรนมเป็นของบางบริษัท อาจถ่ายอุจจาระดีขึ้น ไม่แข็ง
- เพิ่มน้ำส้มคั้น หรือน้ำลูกพรุน เพื่อช่วยระบาย เอาแต่น้ำนะครับ ไม่เอาเนื้อ เพราะกรณีนี้ยังเป็นเด็กทารกอายุเพียง 1-2 เดือน
- ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะได้ช่วยหาสาเหตุ และอาจพิจารณาให้ยาระบายอ่อนๆ เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น
ฝึกลูกรักให้รู้จักขับถ่าย
เรื่องฝึกการขับถ่ายให้ลูก ( Toilet training ) นั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กแล้วยังมีความสำคัญในเรื่องของการเลี้ยงดู และเป็นพื้นฐานของการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วยครับ
ถ้าพ่อแม่ละเลยที่จะฝึกการขับถ่ายให้ลูกจะเกิดปัญหาที่แก้ไขยากครับ เด็กกลุ่มนี้ทั้งๆ ที่โตแล้ว ( เช่น 3-4 ขวบ ) แต่จะไม่บอกพ่อแม่ว่าปวดอุจจาระ ปัสสาวะ บางคนยังอุจจาระ ปัสสาวะราด เลอะเทอะ หรือเวลาถ่ายยังไม่ยอมนั่งกระโถนหรือโถส้วม อาจยืนถ่ายอุจจาระ ถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เช่น ถ่ายในห้องนอน บางคนก็ยังถ่ายในผ้าอ้อมเด็กหรือแพมเพอร์สเหมือนเด็กเล็ก ๆ
จะเริ่มฝึกการขับถ่ายให้ลูกเมื่อไรดี
โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มมีความพร้อมในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งถึง2 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กเดินวิ่งได้คล่องพอดีครับ  ปกติแล้วความสามารถในการควบคุมการถ่ายอุจจาระจะมาเร็วกว่าการถ่ายปัสสาวะเล็กน้อย
คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตว่าลูกน้อยมีความพร้อมที่จะฝึกการขับถ่ายได้หรือยัง โดยจะดูได้จากสัญญาณความพร้อมดังต่อไปนี้ครับ
- ลูกเริ่มเดินได้คล่อง
- สามารถนั่งบนกระโถน โดยทรงตัวอยู่ได้
- พอจะกลั้นปัสสาวะได้นาน 2-3 ชั่วโมง
- มีพัฒนาการทางภาษาเพียงพอที่จะเริ่มทำตามที่พ่อแม่สั่ง และสามารถใช้ภาษาง่ายๆ ที่จะสื่อสารให้พ่อแม่รู้ได้  ซึ่งโดยทั่วไปก็คือเด็กอายุประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี นั่นเองครับ
ฝึกลูกอย่างไร
สำหรับขั้นตอนในการฝึกให้ลูกนั่งกระโถนมีดังนี้ครับ
-ฝึกให้ลูกใช้คำพูดง่าย ๆ เช่น " ฉี่ " " อึ" บางทีเด็กบางคนอาจยังพูดไม่ได้ก็ใช้ภาษากายแทนได้นะครับ เช่นเด็กบางคนอาจเอามือจับที่ท้องน้อยแล้วมองหน้าพ่อแม่ นี่ก็เป็นการสื่อสารประเภทหนึ่งว่าปวดฉี่แล้ว
- ส่งเสริมให้ลูกบอกพ่อแม่เมื่อปวดอุจจาระ ปัสสาวะ
- เลือกกระโถนที่นั่งสบาย วางไว้ในที่ซึ่งหยิบหรือใช้ได้สะดวก
- เมื่อลูกสามารถบอกอุจจาระ ปัสสาวะได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบชมทันทีครับ บางทีอาจให้รางวัลด้วย ถ้ายังทำไม่ได้ก็ไม่ควรดุว่าหรือลงโทษครับ
วงจรของท้องผูก
ในเด็กอายุเกิน 1 ขวบที่กินนมมากเกินไป เช่นกินนมขวด 8 ออนซ์ 5-6 ขวดต่อวัน ไม่ค่อยกินข้าว นอกจากจะมีปัญหาการปฏิเสธอาหาร อมข้าว คายข้าว ดังที่เราได้คุยกันในบทก่อนหน้านี้ไปแล้ว ยังเกิดปัญหาท้องผูกร่วมด้วยบ่อยๆ สาเหตุก็เพราะนมเป็นอาหารที่แทบจะไม่มีเส้นใยอาหาร (Fiber) เลย  เมื่อกินนมมาก เส้นใยอาหารที่จะได้จากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักผลไม้ ก็ยิ่งน้อยลงไปด้วย ทำให้เด็กกลุ่มนี้ มักจะถ่ายอุจจาระเป็นลูกกระสุน แข็งๆ หรือก้อนใหญ่ๆ เวลาถ่ายจึงรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก รูทวารปริแตก บางคนมีเลือดปนออกมากับก้อนอุจจาระ                      
นอกจากนี้มักพบร่วมกับการที่เด็กไม่ได้รับการฝึกการขับถ่ายอุจจาระ เช่นไม่ยอมนั่งกระโถน ถ่ายในผ้าอ้อมสำเร็จรูป ยืนถ่ายอุจจาระ ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กอั้นอุจจาระไว้ ไม่ยอมถ่าย ยิ่งอั้นไว้ ก้อนอุจจาระในลำไส้ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น ถ่ายยากขึ้น เวลาถ่ายก็ยิ่งร้องเจ็บมากขึ้น ข้อแนะนำทั่วไปก็คือการลดปริมาณนมลง และเพิ่มปริมาณอาหารที่มีเส้นใยเช่นผัก และผลไม้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงวัยก่อนอนุบาลควรจะเริ่มฝึกให้ลูกขับถ่ายอุจจาระทุกวันตามเวลาด้วยครับ
มาฝึกสุขลักษณะที่ดีในการถ่ายกันเถอะ
ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยอนุบาล เด็กโต รวมไปถึงผู้ใหญ่ ก็ควรจะฝึกสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการถ่ายอุจจาระอยู่แล้วครับ คือถ่ายอุจจาระทุกวัน ตามเวลา ตรงช่วงเวลา เช่นทุกเช้า หรือทุกเย็น ไม่ใช่รอให้ปวดอุจจาระก่อนแล้วค่อยไปถ่าย คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกลูกเป็นขั้นตอนดังนี้ ฝึกให้ลูกนั่งกระโถนตามเวลา โดยขั้นแรกให้นั่งเฉยๆ ยังไม่ต้องถ่าย ก็จะให้รางวัล ให้คำชม หรือให้ขนมที่ชอบ อีก1-2 สัปดาห์ ก็เพิ่มเกณฑ์ขึ้น เป็นนั่งแล้วถ่ายด้วย มีคุณแม่คนหนึ่ง สร้างแรงจูงใจด้วยตุ๊กตาเซรามิคตัว เล็กๆ ถ้าลูกยอมนั่งถ่ายตามเวลา จะให้ตุ๊กตา ได้ผลดีมากครับ เด็กเริ่มถ่ายตามเวลาได้ ถ้าได้พยายามแล้ว แต่เด็กหลายคน (รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย) อาจจะยังถ่ายไม่เป็นเวลาบ้าง ก็ไม่เป็นไรครับ แต่อย่างไรก็ตามการลองฝึกสุขลักษณะที่ดีในการขับถ่ายให้ลูก ไม่มีอะไรเสียหายเลยครับ ลองทำดูได้
ในกรณีที่ท้องผูกรุนแรง หรืออุจจาระเล็ด เปื้อนกางเกง  ควรปรึกษาแพทย์เสมอนะครับ ไม่ควรสวนอุจจาระ หรือหาซื้อยาระบายมากินเอง  เพราะปัญหามักซับซ้อน และอาจมีความผิดปกติเช่นโรคของลำไส้ มีการอั้นอุจจาระ รวมถึงบางคนอาจมีปัญหาจิตใจซ่อนอยู่ แพทย์อาจต้องตรวจ ประเมิน พิจารณาให้ยาระบายตามความเหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแนะนำการฝึกการขับถ่ายต่อไป

เด็กที่อั้นอุจจาระไว้ ไม่ยอมถ่าย ยิ่งอั้นไว้ ก้อนอุจจาระในลำไส้ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น ถ่ายยากขึ้น เวลาถ่ายก็ยิ่งร้องเจ็บมากขึ้น

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

เล่นคนเดียว สร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ


นับเป็นอีกหนึ่งทักษะชั้นสูงในการฝึกเด็กค่ะ ถึงแม้หลายๆ งานวิจัยจะให้ความสำคัญของการเล่น โดยของเล่นที่วิเศษสุดของเขาก็คือพ่อแม่นั่นเอง แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็ก ต่างก็มีความเห็นว่า เด็กเองก็ควรที่จะมีเวลาเป็นของตนเอง ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ลองทำอะไรเอง แม้ว่าจะผิดจะถูก และหัดการพึ่งตนเอง ฝึกสมาธิ ได้ทำอะไรตามที่ตนเองต้องการทำ โดยไม่มีใครมากวนหรือชี้นำ
ประโยชน์ของการเล่นคนเดียว
ที่สำคัญคือ การที่เด็กได้มีโอกาสทำอะไรเอง และฝึกที่จะเล่นคนเดียวบ้าง ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองดีขึ้น และมีความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem)   
ในขั้นตอนการพัฒนาการของเด็กปกตินั้น เด็กจะเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีตัวตน และแตกต่างจากพ่อและแม่ ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือน การให้เด็กเล่นคนเดียว เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักตนเอง และเป็นเพื่อนของตนเองได้ เด็กจะไม่รู้สึกเหงา หรือกลัว เมื่อต้องอยู่คนเดียว ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้น และเริ่มออกไปสู่โลกภายนอก เขาจะสามารถหาเพื่อนใหม่ได้เสมอ เพราะเขาชอบที่จะมีเพื่อน ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเหงา ไม่อยากอยู่คนเดียว
เทคนิคง่ายๆ สอนหนูเล่นคนเดียว
การฝึกลูกน้อยให้เล่นคนเดียว นอกจากจะฝึกให้เด็กรู้จักสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองแล้ว ถือเป็นการพัฒนาทักษะสำคัญอีกด้านที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่เด็กจะเฉลียว ฉลาด เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และรู้จักพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยเทคนิคดังต่อไปนี้ค่ะ
  1. เติมกล่องของเล่นด้วยอุปกรณ์ที่สนับสนุนการเล่นสนุกตามลำพัง เช่น ของเล่นเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง การแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์หรือการสมมุติเหตุการณ์ จิ๊กซอว์ ตัวต่อ สีเทียนกับกระดาษ หนังสือภาพ ตุ๊กตา เครื่องครัวเด็กเล่น ล้วนเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมทั้งสิ้นค่ะ สลับสับเปลี่ยนกล่อง หรือเติมของเล่นใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเขาอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจ
  2. ไม่ควรปล่อยปละให้ทีวีเลี้ยงลูกเด็ดขาด เพราะเป็นสื่อสารเพียงด้านเดียว (One - way communication) ควรปิดซะ แล้วพาเด็กไปยังห้องที่เงียบ เปิดกล่องที่เต็มไปด้วยของเล่นแปลกใหม่และเริ่มกระตุ้นให้เขาหยิบมาเล่น ในช่วงแรก คุณแม่ควรเล่นเป็นเพื่อนลูกอย่างใกล้ชิด
  3. หลังจากผ่านไป 2 - 3 ให้ค่อยๆ ลดการมีส่วนร่วมของคุณแม่ลง รวมทั้งเล่นสนุกและพูดคุยกับลูกให้น้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นเฝ้ามองเขาเล่นแทน
  4. ถอยห่างออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมานั่งอ่านหนังสือบนเก้าอี้ แรกทีเดียวหนูน้อยของเราอาจประท้วง แต่แรงต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงทีละน้อย เมื่อเขาเริ่มสะดวกใจกับการเล่นคนเดียวมากขึ้น เงยหน้ามองเป็นระยะเพื่อกล่าวชม หรือเดินไปหาเขาเพื่อแสดงท่าทางสนับสนุนค่ะ
  5. เริ่มขอตัวออกจากห้องเป็นระยะเวลาสั้นๆ ขณะหนูน้อยกำลังสนุกกับของเล่นอย่างเต็มที่ โดยคุณอาจอ้างว่า “ขอแม่ไปทำธุระก่อนนะ” หรือ “เดี๋ยวแม่กลับมา” จากนั้นค่อยแวะกลับมาหลังจากเวลาผ่านไปสองสามวินาทีเพื่อกล่าวชมเขาที่สามารถเล่นคนเดียวได้อย่างสงบ ค่อยเพิ่มช่วงเวลาในการออกจากห้องให้นานขึ้น แต่ควรแวะกลับมาทุกครั้งเพื่อให้การสนับสนุน เสริมแรงโดยการกล่าวชมเชย ไม่นานคุณแม่ก็สามารถเดินออกจากห้องและกลับเข้ามาในห้องโดยที่เด็กไม่ทันสังเกตได้ในที่สุดค่ะ

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ไว้คือ ขั้นตอนพัฒนาการของเด็กในแต่ละอายุด้วย เพราะเด็กที่อายุมากขึ้น จะสามารถเล่นเองคนเดียวได้นานมากขึ้น เช่น เด็กอายุ 6 เดือน จะสามารถอยู่คนเดียว ได้ประมาณ 5 นาที เด็กอายุ 1 ขวบ จะเล่นคนเดียวได้ประมาณ 15 นาที พออายุขวบครึ่งจะเพิ่มขึ้นอยู่คนเดียวได้ประมาณ 15 ถึง 20 นาที ขณะที่อายุ 2 ขวบขึ้นไป จะได้ประมาณครึ่งชั่วโมง

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด
คงไม่มีอะไรที่จะประทับใจ คุณพ่อคุณแม่ เท่ากับการได้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูก ยิ่งเห็นลูกมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมทางสังคมไปเรื่อยๆ ก็คงอดภูมิใจและลุ้นไปด้วยไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ แต่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัยนั้น การเอาใจใส่ที่สอดคล้องกันในทุกๆ ด้าน ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
ร่างกายแข็งแรงที่ซู้ด..ต้องนมแม่เท่านั้น
เป็นวัยที่ลูกน้อยยังต้องหม่ำนมเป็นหลัก ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องให้ดื่มนมแม่จากเต้าค่ะ ทั้งสดและใหม่ คุณค่าครบครัน แถมขณะที่เบบี๋กำลังดูดนม ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (Oxytocin)ในร่างกายของแม่ก็จะเพิ่มระดับขึ้น ทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดี และมีความสุขไปด้วย ซึ่งตามหลักแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกด้วยตนเองได้ถึง 6 เดือน
โดยธาตุอาหารที่อยู่ในน้ำนมนั้นจะให้โปรตีน รวมถึงแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียมเป็นสิ่งสำคัญมาก การดื่มน้ำอุ่นวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว ก็ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอด้วยค่ะ และเมื่อหนูน้อยมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ควรงดให้นมในมื้อดึก เพราะวัยนี้สามารถนอนติดต่อได้นานเวลากลางคืน
เสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวด้วย “ของเล่นชิ้นโปรด”
พอเข้าเดือนที่ 4 หนูน้อยก็พลิกตัวได้สำเร็จครั้งแรก และนั่งได้โดยมีที่พิงด้านหลัง คุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการลูกน้อย ด้วยการจับมือดึงให้ลุกขึ้นนั่งบ่อยๆ จะช่วยบริหารหลังและคอของลูกให้แข็งแรงค่ะ พอถึงเดือนที่ 5 ก็สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้แต่ยังไม่ดีนัก และชื่นชอบคว้าของทุกอย่างเข้าปาก คุณแม่ควรเล่นกับลูกด้วยของเล่นสีสันหลากหลาย เพื่อหลอกล่อให้เขาพลิกคว่ำพลิกหงาย
อาจฝึกกระตุ้นการใช้มือ โดยเตรียมของเล่นพวกลูกบอลบล็อก ของเล่นที่บีบและมีเสียง ยางกัด จนอายุหนูได้ 6 เดือน ลูกก็จะเริ่มคืบไปข้างหน้า และใส่เกียร์ถอยหลังได้บ้าง บางครั้งก็พยายามที่จะลุกขึ้นมานั่งแต่ไม่มั่นคงเท่าไหร่ค่ะ ดังนั้น ควรจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของลูก ไม่วางสิ่งของเกะกะ จนเป็นอันตรายต่อลูก
ภาษาพูดกับลูกน้อยที่แม่ควรรู้ไว้
ลูกน้อยในวัย 4 – 6 เดือนนี้ จะเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นค่ะ สามารถหันมองตามเสียงเรียกของคุณพ่อคุณแม่ได้ ชอบฟังเพลง ส่งเสียงพูดคุยอ้อแอ้ และเข้าใจภาษาจากคนรอบข้างมากขึ้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริม ด้วยการพูดคุยกับลูกโดยใช้ภาษาสั้นๆ ง่ายๆ และน้ำเสียงหนักเบาที่น่าดึงดูด โดยขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ไปด้วยก็ได้ เช่น เล่นโยกเยกกับลูก พูดคุยเรียกชื่อทุกครั้งให้เกิดความคุ้นเคย เวลาเล่นของเล่นก็อาจตั้งชื่อให้ด้วย เป็นต้น เป็นการเสริมพัฒนาด้านภาษาของลูกด้วยคำศัพท์ต่างๆ ที่น่าสนใจรอบตัวเขา
เริ่มต้นสอนทักษะการเข้าสังคม
เมื่ออายุย่างเข้า 5 เดือน เขาก็จะเริ่มจับเริ่มสำรวจใบหน้าพ่อแม่ พอเข้าเดือนที่ 6 จะเริ่มจดจำชื่อและคนแปลกหน้าได้ ดังนั้นจะติดคุณแม่เป็นพิเศษ และกลัวคนแปลกหน้า (Stranger anxiety) ไม่ยอมให้อุ้มหรือเข้าใกล้เด็ดขาด ดังนั้น คุณแม่ควรพาลูกออกไปเจอบุคคลอื่นที่ไม่คุ้นเคยบ้างก็ดีค่ะ เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เช่น พาไปจ่ายตลาด เดินเล่นสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวตามบ้านญาติต่างๆ

การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นอกจากส่งเสริมภาวะโภชนาการให้เจริญเติบโตตามวัย และการส่งเสริมการเล่นเพื่อพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้อีกแนวทางหนึ่ง คือ การเล่านิทาน การร้องเพลงกล่อมเด็ก มีผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า การพูดคุย และการร้องเพลงกล่อมเด็กบ่อยๆ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำใหม่ได้เร็ว และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการสมองที่สำคัญ ทำให้เด็กมีความจำและฉลาดขึ้น

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เมนูน่าหม่ำ

สร้างเด็กให้มีสุขภาพดี...เมนูเพื่อลูกรัก

วงจรชีวิตของมนุษย์เริ่มตั้งแต่วัยเด็กทารก มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เรียกกันง่าย ๆ ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งวัยเด็กเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุด เพราะจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ที่อยู่ในช่วงอายุ 3 - 5 ขวบ เป็นวัยที่ถือว่า "วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่มีการเปลี่ยน แปลงจากวัยทารก ก้าวสู่ความพร้อมที่จะเรียนรู้ สังคมภายนอกที่กว้างออกไป จากสังคมปิดภายในครอบครัว ดังนั้นเราจึงควร สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กของเรา เพื่อไปเผชิญต่อสภาวะภายนอกบ้าน โดยเริ่มที่เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องแรก เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญ
1. อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญ แม้จะเร่งรีบสักปานใด ก็ต้องกินอาหารเช้า เพราะเป็นอาหารมื้อที่มีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาควรเตรียมให้ พร้อม เด็กหลายคนต้องตื่นแต่เช้า อาจยังไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหาร ควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากรับประทาน ทำอาหารที่เด็กชอบ และสร้างสรรค์เมนูใหม่ ไม่ให้เกิดความจำเจ
2. ฝึกให้เด็กมีนิสัยชอบกินผัก ซึ่งเรื่องของการกินผักกับเด็กค่อนข้างจะเป็นปัญหาใหญ่ เด็กหลายๆคนมักไม่ชอบผักเอาเลย เราลองย้อนมาดูสาเหตุกันซิว่าทำไมเด็กไม่ชอบ ซึ่งจะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วที่ไม่ชอบก็เพราะว่า ผักมีกลิ่นแรง รสไม่อร่อย ฉะนั้นการเริ่มต้นฝึกการกินผักโดยเลือกผักที่มีสีและน่าตาน่ารับประทาน เช่น แครอท ดอกกะหล่ำ แตงกวา บรอกโคลี เป็นต้น ใส่ลงไปชิ้นเล็ก ๆ ในอาหารก่อน เช่น ในข้าวผัด ซุป แกงจืด เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหารที่เด็กชอบ เอาไปชุบแป้งทอด ผสมในหมูสับทอด หรือนำไปลวกให้กลิ่นหายไปบ้าง นำมาคลุกเนยหรือ น้ำตาลเล็กน้อยเป็นการปรับรสชาติหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ แช่เย็นจะทำให้มีความกรอบที่เด็กชอบ
3. สร้างนิสัยช่วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น แปรงฟัน ทานข้าว แต่งตัว โดยผู้ปกครองคอยแนะนำ คอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเท่านั้น ในครั้งแรกอาจทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน จำไว้นะค่ะ ผิดถูกไม่เป็นไร ช่วยอยู่ห่าง ๆ คอยสอน คอยให้กำลังใจ อย่างใจเย็นๆในที่สุดเด็กน้อยของเราก็จะทำได้
4. เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากเพื่อนวัยเดียวกัน การทำเช่นนี้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่สำคัญ เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักปรับตัว
5.ประการสุดท้าย ขอย้อนกลับมาที่เรื่องอาหารที่ไม่ควรมองข้าม เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักติดใจรสหวานและซ่าของน้ำอัดลม ในน้ำอัดลมจะประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรให้เด็กหลีกเลี่ยง

อย่าลืมนะค่ะ เด็กมักทำตามผู้ใหญ่ฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคนในบ้านต้องทำเป็นตัวอย่าง
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนสำหรับการสร้างเด็กให้มีสุขภาพดี และมีตำรับอาหารเด็กมาฝากกันเช่นเคย 2 ตำรับค่ะ ลองเอาไปทำให้เด็ก ๆรับประทานกันนะค่ะ




หมูม้วนสาหร่ายไข่กุ้ง

ส่วนผสม
หมูบด 1 ถ้วยตวง
กุ้งสับ 1 ถ้วยตวง
ไข่กุ้ง ¼ ถ้วยตวง
รากผักชีกระเทียมพริกไทยโขลกละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
ซอสหอยนางรม 2 ช้อนชา
แผ่นสาหร่าย
แครอท บรอกโคลี มะเขือเทศ
วิธีทำ
1.ผสมหมูบด กุ้งสับ รากผักชีกระเทียมพริกไทย ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย ซอสหอยนางรมและแป้งข้าวโพด นวดให้เข้ากัน พักไว้ 10 นาที
2.วางแผ่นสาหร่ายบนเขียง ตักส่วนผสมในข้อที่1 ทาให้ทั่วแผ่นแล้วทาทับด้วยไข่กุ้งม้วนเป็นแท่ง
3.นำไปนึ่งจนสุก ยกลงพักให้เย็นจึงมาหั่นชิ้นเสิร์ฟกับน้ำจิ้มและผักตามชอบ








ผลไม้ถ้วยซี๊ด

ส่วนผสม
แอปเปิลสีเขียว สีแดง 1 ถ้วยตวง
สับปะรด 1 ถ้วยตวง
องุ่น 1 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว ¼ ถ้วยตวง
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
ไข่เป็ดต้มสุก 12 ฟอง
เบคอนหั่นสี่เหลี่ยมเล็กทอกกรอบ ½ ถ้วยตวง
ขนมปังกรอบ
เกลือป่น

วิธีทำ
1.เตรียมผลไม้โดยหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก แช่น้ำเย็นผสมเกลือป่นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ผลไม้ดำตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ
2.ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน
3.ไข่เป็ดต้มนำมาปอกเปลือกตัดด้านบนและควักไข่แดงออก
4.ตักผลไม้กับเบคอนที่เตรียมไว้ใส่ลงในไข่
5. เวลาเสิร์ฟจึงใส่น้ำยำลงไปเสิร์ฟทันทีกับขนมปังกรอบ

โรคไอพีดีในเด็ก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มรู้จักโรคไอพีดี จากสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้นได้ทราบถึงความรุนแรงของโรคซึ่งสามารถทำอันตรายถึงขั้นเสีย ชีวิต ดังนั้นเราจะนำท่านไปรู้จักกับการป้องกันและตัวช่วยในการปกป้องลูกน้อยจาก โรคร้ายนี้


โรคไอพีดีคืออะไร
โรค ไอพีดี (IPD=Invasive Pneumococcal Disease) คือโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมอง หรือปอด จึงเรียกว่า Invasive (แพร่กระจาย) Disease

เชื้อนิวโมคอคคัสมาจากที่ไหนและสำคัญอย่างไร
เชื้อ นิวโมคอคคัสพบได้ในจมูกลำคอ ของคนทุกเพศทุกวัย เชื้อสามารถกระจายจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ ได้ โดยละอองฝอยน้ำลายเมื่อไอ จาม เมื่อสูดอากาศที่มีเชื้อนี้เข้าไป จะทำให้เกิด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ แต่ถ้าเชื้อแพร่กระจายมากก็จะเข้าสู่กระแสเลือด หรือเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ได้รับเชื้อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว เชื้อนี้จะเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น ความรุนแรงก็ขึ้นกับผู้รับเชื้อว่าแข็งแรงดีไหมตัวเชื้อจำนวนมากหรือร้ายแรง แค่ไหน และภาวะแวดล้อมของผู้ได้รับเชื้อเช่นไม่พักผ่อน ไม่ได้อาหารที่มีคุณภาพ โรคที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกันเชื้อนี้
- เมื่อ ไอ จาม ต้องปิดปากจมูกเพื่อป้องกันเชื้อกระจายไปสู่ผู้อื่น
- ถ้าป่วยพยายามอย่าไปที่มีคนมากหรือที่อากาศไม่ถ่ายเท เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
- ฉีดวัคซีนป้องกัน

การป้องกันด้วยวัคซีนไอพีดี
วัคซีน ไอพีดี สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากได้รับเชื้อ แต่เนื่องจากเด็กเล็กจะมีการสร้างภูมิได้ไม่ดีเท่าเด็กโต จึงต้องฉีดหลายเข็ม คือ อายุ 2-6 เดือน 4 เข็ม, 6 เดือน - 1ปี 3 เข็ม, 1ปี - 2ปี 2 เข็ม, มากกว่า 2 ปี 1 เข็ม

แม้วัคซีนจะมีราคาสูง แต่ก็คุ้มค่ากับชีวิตของลูกน้อยของท่าน

เรื่องน่ารู้เพื่อคุณแม่

8 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก

เด็ก เล็กมีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้น เรื่องสุขภาพร่างกายของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริม สร้างความแข็งแรงให้ลูกน้อย ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
. กินนมแม่สารอาหารต้นทุน ที่สำคัญและดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ก็คือนมแม่ ที่นอกจากไม่เสียเงินทองแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องภูมิต้านทาน เพราะทารกช่วงแรกเกิด-1 ปี ระบบการพัฒนาภูมิคุ้มกันอาจยังไม่สมบูรณ์ โอกาสการติดเชื้อโรคเกิดได้ง่ายกว่าเด็กโต การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วย การแพ้นมวัว และเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างแม่ลูก
2. อาหารเสริม
ลูกน้อยมีพัฒนาการ การเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนไหวมากขึ้นตามช่วงวัย จึงควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ได้กินอาหารครบ 5 หมู่และหลากหลาย (ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง) เพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้ถึงรสชาติ ลักษณะอาหารที่ต่างจากนมแม่ และฝึกทักษะเรื่องการกินอาหารที่เหมาะสม
3. สร้างภูมคุ้มกันด้วยวัคซีน
การฉีดวัคซีน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานในเบื้องต้นตามที่กระทรวง สาธารณสุขกำหนด ส่วนวัคซีนทางเลือกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สุขภาพของลูก และความต้องของคุณพ่อคุณแม่
4. สุขอนามัยที่ดี
ความสะอาด เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย คุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นทุกชนิด ที่ลูกสัมผัสอยู่เสมอ เพื่อกำจัดและป้องกันเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ที่ควรดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยส่วนตัว เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เข้าห้องน้ำ เป็นต้น
5. ใส่ใจสภาพแวดล้อม
ช่วง ที่อากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็ทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณแม่ ไม่สบายเนื้อสบายตัว ออกอาการโยเยได้ คุณจึงควรเตรียมพร้อม หาทางรับมือ ป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพลูก ในแต่ละช่วงฤดูกาลไว้ก่อน เช่น ช่วงหน้าฝนควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุม ให้ความอบอุ่นแก่ลูก ส่วนหน้าร้อน ก็ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนเกินไป ใส่เสื้อผ้าบางๆ เพื่อช่วยระบายอากาศ
6. นอนหลับเพียงพอ
ในช่วงที่ลูกนอนหลับสนิท ร่างกายจะหลั่ง Growth Hormones ออกมา ซึ่งทำให้ร่างกายลูกน้อยเจริญเติบโตตามปกติ และขณะที่ลูกน้อยหลับ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ ฉะนั้น การสร้างบรรยากาศภายในห้องนอนที่เหมาะสม ไม่รบกวนการนอนของลูก ก็มีส่วนช่วยต้านโรคเช่นกัน
7. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายของเด็กวัยนี้ อาจจะยังไม่มีรูปแบบชัดเจนนัก ถ้าเด็กคนไหนแอคทีฟ เคลื่อนไหวบ่อย ก็เท่ากับเป็นการออกกำลังทางหนึ่ง แต่ถ้าเด็กคนไหนเจ้าเนื้อ อาจจะไม่ค่อยชอบเคลื่อนไหวเท่าใดนัก ให้คุณพ่อคุณแม่คอยกระตุ้นด้วยการเล่นกับลูก หลอกล่อให้ลูกอยากจะคว่ำ คลาน เดิน ตามช่วงพัฒนาการ เพื่อให้ลูกออกกำลังแขน ขา เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย สร้างความกระฉับกระเฉง ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดีและแข็งแรง
8. เสริมวัคซีนทางใจ
ข้อนี้ยกให้เป็นเรื่องปฏิบัติของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ด้วยการเตรียมจิตใจ อารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ เพราะอารมณ์ และจิตใจของคุณส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อย ยิ่งคุณอารมณ์ดี มีความสุขกับการเลี้ยงลูก ก็เท่ากับคุณได้สร้างความสุข เสริมภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูกน้อยแล้วค่ะ



ความรู้เมื่อเด็กอยากสูง

เมื่อเด็กอยากสูง

บุตรของท่านมีปัญหาต่อไปนี้หรือไม่
• ตัวเล็กมาตลอดเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน
• เติบโตช้ามาก ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 4 ซม. ต่อปี
• เพื่อนรุ่นเดียวบางคนที่เตี้ยกว่าหรือสูงพอๆ กัน ตอนนี้สูงกว่า
• ตัวเล็กมากทั้งที่บิดามารดาสูง

"หากมี ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กมีอาการซึมเศร้า โดนเพื่อนแกล้ง หรือการเรียนแย่ลง เนื่องจากโรคเตี้ยบางสาเหตุมีทางแก้ไขได้หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ"


การเจริญเติบโตในเด็กผิดปกติจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม

แม้การเจริญเติบโตของคนจะเป็นไปตามพันธุกรรมก็ตาม แต่การที่เด็กจะมีการเจริญเติบโตที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆดังต่อไปนี้ มีภาวะโภชนาการดีและเหมาะสม มีสุขภาพทางจิตใจและอารมณ์ดี ปริมาณฮอร์โมนปกติ
และสามารถออกฤทธิ์ได้ปกติไม่มีโรคเรื้อรังทางกายอื่นๆ มีการออกกำลังกายและ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และประการสุดท้ายไม่มีความผิดปกติที่จะส่งผลทำให้มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ของกระดูก เช่น ยาหรือสารเคมีจากภายนอก

จะทราบอย่างไรว่าเด็กตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์หรือเติบโตช้าผิดปกติ

การประเมินการเจริญเติบโตว่าปกติหรือไม่ ทำได้โดยการเอาส่วนสูงของเด็กจุดลงบนกราฟมาตรฐานน้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กไทยที่อายุและเพศเดียวกัน และพบว่าต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3 ก็ถือว่าเตี้ย และติดตาม อย่างต่อเนื่องเพื่อดูลักษณะกราฟการเจริญเติบโต กรณีที่ส่วนสูงไม่ต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3


แต่หากพบว่า มีการเบี่ยงเบนจากเปอร์เซนต์ไทล์เดิมไปในทิศทางที่ต่ำลงก็ถือว่าผิดปกติเช่นกัน แต่ทั้งสองวิธีต้องมีกราฟ มาตรฐาน อีกวิธีที่สะดวกคือดูอัตรการเจริญเติบโตในระยะที่ผ่านมา เด็กวัยเรียนอายุ 4-9 ปีจะเติบโตประมาณ 5 ซม.ต่อปี

ซึ่งสามารถหาดูได้จากสมุดพกนักเรียน เด็กที่สงสัยว่าจะมีการเจริญเติบโตผิดปกติควรได้รับการ ตรวจ วินิจฉัยโดยแพทย์แต่เนิ่นๆ เนื่องจากบางภาวะสามารถให้รักษาได้และได้ผลดีกว่าหากรักษาตั้งแต่อายุ น้อยๆ ไม่ ควรรอจนอายุมาก หรือจนมีลักษณะเป็นหนุ่มสาวจึงค่อยมาพบแพทย์เพราะทำให้การรักษาไม่ได้ ผลดีเท่าที่ควร หรือไม่ได้เลย

ข้อมูลที่ควรนำไปด้วยเมื่อพบแพทย์

ส่วนสูงที่เคยวัดไว้ในสมุดพกนักเรียน นอกจากนี้ควรมีส่วนสูงบิดา-มารดา ผู้ที่นำเด็กไปพบแพทย์ควรเป็น บิดา-มารดาหรือคนใดคนหนึ่ง เพราะแพทย์จะซักรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและประวัติอดีตของ เด็กด้วย หากแพทย์พบว่าเด็กเตี้ยหรือเติบโตช้าจริง


แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยก สาเหตุทางกายอื่นๆที่ชัดเจนออกไป หากพบว่ามีข้อบ่งชี้หรือสงสัยว่าจะมีความผิดปกติทางฮอร์โมน แพทย์ จะนัดตรวจทางห้องปฎิบัติการต่อมไร้ท่ออีกครั้งหนึ่ง

ฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตหลังคลอด

ฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตหลังคลอด ได้แก่ อินซูลิน ฮอร์โมนเติบโต ธัยรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์ โมนเพศ ฮอร์โมนที่พบบ่อยถ้าขาดและทำให้การเจริญเติบโตช้า


ได้แก่ ฮอร์โมนเติบโต ธัยรอยด์ฮอร์โมน "เด็กเตี้ยที่มีสาเหตุจากขาดฮอร์โมนเติบโตและธัยรอยด์ฮอร์โมนสามารถรักษาได้ผลดีหากตรวจพบ และ รักษาแต่เนิ่นๆ

การตรวจความผิดปกติที่เกิดจากการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน

ทำได้ง่ายเพียงเจาะเลือดตรวจหาระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนเพียงครั้งเดียว หากพบว่าขาดจริงการรักษาทำโดย การให้ฮอร์โทนทดแทนทางปาก

การตรวจหาความผิดปกติที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเติบโต

การตรวจหาระดับฮอร์โมนเติบโตแตกต่างไปจากการเจาะเลือดโดยทั่วๆไป จำเป็นต้องให้ยากินหรือฉีดยา กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเติบโตก่อน ดังนั้นคนไข้ต้องงดอาหารก่อนวันทดสอบ

ระหว่างการทดสอบคนไข้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาล และแพทย์โดยใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าผลการทดสอบสามารถแปลผลได้ แม่นยำ คนไข้บางรายอาจต้องทำการทดสอบ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้ขาดฮอร์โมนนี้จริงๆ

การรักษาคนไข้ที่ขาดฮอร์โมนเติบโต ทำโดยการฉีดฮอร์โมนเติบโตเข้าใต้ผิวหนัง

คนไข้ที่จะตอบสนองดีต่อการให้การรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนเติบโต คือคนไข้ที่ขาดฮอร์โมนเติบโตจริงๆ หากขาดมากจะตอบสนองดีกว่ารายที่ขาดไม่มาก ดังนั้นก่อนให้ฮอร์โมนเติบโตจึงจำเป็นต้องทำการทดสอบ ทุกราย

ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา

การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเติบโตจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มให้การรักษา ความรุนแรงของการ ขาดฮอร์โมน ขนาดของฮอร์โมนที่ให้ วิธีการให้ และระยะเวลาที่ได้รับการรักษา การรักษาจะได้ผลดีหากให้ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

โดยสรุปเด็กที่มีปัญหาเติบโตช้าหรือตัวเตี้ย ควรนำเด็กไปพบแพทย์ก่อนที่เด็กจะมีลักษณะเข้าวัยหนุ่มสาว นำส่วนสูงของที่วัดไว้ก่อนหน้านี้ในสมุดวัคซีนและสมุดพกนักเรียนไปด้วย หากไม่มีสมุดวัคซีนหรือสมุดพก สามารถขอบันทึกการวัดได้จากสถานพยาบาลหรือโรงเรียนโดยตรง
ส่วนสูงของบิดาและมารดา อายุที่เริ่ม เข้าวัยหนุ่มในบิดา(ถ้าหากจำได้) และอายุที่เริ่มมีประจำเดือนในมารดา บิดาและหรือมารดาควรไปกับเด็ก ด้วยเพื่อให้ประวัติเด็กกับแพทย์ผู้ดูแล เพื่อฟังคำแนะนำและแนวทางในการตรวจรักษา นอกจากนี้เด็กบาง รายอาจต้องการความช่วยเหลือดูแลจากแพทย์ทางจิตเวชเด็กอีกด้วย


สามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น/ กัลญา

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของร่างกายและแบบแผนของร่างกายทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆเป็นขั้นตอน จากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เด็กมีลักษณะและความสามารถใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา (สุชา จันทน์เอม ,2542 : 40 )
พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งเข้าสู่อายุ 3-6 ปี ซึ่งมีลักษณะพิเศษกว่าประสบการณ์ในช่วงวัยอื่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้นอย่างผสมผสานในช่วงเวลาเดียวกันและสามารถสังเกตเห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างชัดเจน ซึ่งอัตราในการเปลี่ยนแปลงของเด็กแต่ละคนอาจมีอัตราการเปลี่ยนแปลงช้า เร็วแตกต่างกัน แต่ส่วนมากแล้วพฤติกรรมก็มักจะเป็นไปตามแบบแผนและมีรูปแบบทิศทางเดียวกัน
หลักพัฒนาการของเด็กปฐมวัย สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ โดยยึดหลักของพัฒนาการมนุษย์ ดังนี้
1.1 องค์ประกอบของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ
1.1.1 วุฒิภาวะ (Maturation) หมายถึง สภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นถึงระดับการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเด็กแต่ละคน ในระยะใดระยะหนึ่งที่กำหนดตามวิถีทางของธรรมชาติ และนำมาซึ่งความสามารถกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เหมาะสมกับวัย ศักยภาพที่เด็กแสดงออกมาในเวลาอันสมควรนี้ หรือที่เรียกว่าระดับวุฒิภาวะ (Maturity) มีอยู่ในตัวเด็กตั้งแต่กำเนิดและถูกกำหนดโดยพันธุกรรมด้วยเหตุนี้ระดับวุฒิภาวะของเด็กที่จะแสดงความสามารถอย่างเดียวกัน อาจแสดงออกมาในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ เช่น โดยทั่วไปเด็กจะวาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้ ประมาณอายุ 4 ปี เด็กบางคนอาจจะทำได้เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์นี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือ และความสัมพันธ์ของมือและตา รวมทั้งทักษะการรับรู้เกี่ยวกับรูปร่าง
1.1.2 การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ที่ดีรับ หรือจากการปฏิบัติ อบรมสั่งสอน และการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความต้องการและความสนใจของเด็ก ทำให้ความสามารถต่างๆ ของเด็กถูกนำออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งนี้การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีขอบเขตจำกัดทั้งช่วงเวลา ความสนใจที่สั้นและเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบของการเล่น ที่เด็กได้ลงมือกระทำ ศึกษาค้นคว้า สำรวจสิ่งรอบตัวตามความพอใจของตนเองและเก็บสะสมเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล เช่น เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือนิทานและของเล่น รวมทั้งมีผู้ปกครองที่เอาใจใส่เล่านิทานหรือแนะนำการอ่าน มักจะเรียนรู้การอ่านได้อย่างรวดเร็ว กว่าเด็กที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
พัฒนาการของเด็กปฐมวัย เป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวุฒิภาวะและการเรียนรู้ กล่าวคือ วุฒิภาวะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการเรียนรู้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความสามารถบางอย่างอาจไม่เกิดขึ้นหรือเกิดช้ากว่าที่ควรได้ เช่น ความสามารถในการใช้ภาษา เด็กที่มีวุฒิภาวะในการพูด จะสามารถเปล่งเสียงพูดออกมาได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รับการสอนภาษาพูดก็จะใช้ภาษาพูดไม่ได้เลย ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะในการพูด ถึงแม้ว่าจะได้รับการเคี่ยวเข็ญฝึกภาษาพูดมากสักเพียงใด ก็ไม่อาจพูดได้ ถ้าเด็กยังไม่พัฒนาถึงวุฒิภาวะนั้น จึงเห็นได้ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามกำหนดเวลาเฉพาะของพัฒนาการนั้นๆ โดยธรรมชาติ อันก่อความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามขั้นตอนของพัฒนาการ โดยมีสภาพแวดล้อมช่วยเสริมต่อพัฒนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่เด็กสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่นี้ เรียกว่าระยะพอเหมาะ (Optimal Period) ลักษณะพฤติกรรมที่เด็กสามารถแสดงออกเมื่ออยู่ในขั้นพัฒนาการนั้นๆ เรียกว่า พัฒนาการตามวัย (Developmental Task) เด็กที่แสดงพฤติกรรมตามขั้นพัฒนาการได้พอเหมาะกับวัย จะถือว่ามีพัฒนาการสมวัย
1.2 แบบแผนของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกคนเปลี่ยนแปลงไปตามแบบแผนเดียวกัน คือ
1.2.1 แบบแผนของพัฒนาการ เด็กปฐมวัยทุกคนมีลำดับขั้นของพัฒนาการเหมือนกัน เปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีทิศทางก้าวหน้าโดยไม่ข้ามขั้น และไม่มีการหยุดนิ่งอยู่กับที่ พัฒนาการในขั้นต้นจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในขั้นต่อไปที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ความสามารถในการวาดรูป เด็กเล็กจะสามารถใช้กล้ามเนื้อแขนและมือในการเคลื่อนไหวลากเส้นโยงไปมาอย่างไม่ทิศทาง จนสามารถบังคับกล้ามเนื้อนิ้วได้มากขึ้นในการควบคุมการลากเส้นอย่างมีทิศทางตามความต้องการและสามารถวาดรูปคล้ายของจริงได้ในที่สุด
1.2.2 การเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดเจน สามารถวัดได้ โดยเฉพาะการเพิ่มขนาดของรูปร่างและอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อเด็กอายุมากขึ้นและได้รับสารอาหารที่เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย ขนาดของร่างกายก็จะขยายใหญ่ขึ้น สาวนสูงและน้ำหนักก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งการแสดงออกถึงขีดความสามารถในด้านต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย เช่น การเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น ความจำเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นต้น ในช่วงปฐมวัยนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูและกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กมีรูปร่างผอมและสูงขึ้น
1.2.3 การเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนเกี่ยวข้องกับกลไกในการทำงานภายในร่างกายที่ก่อให้เกิดความสามารถใหม่ๆ เช่น ก่อนที่จะใช้คำพูดสื่อความหมายคล้ายผู้ใหญ่ได้ จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนเกี่ยวกับการใช้ภาษา เช่น การฟัง การเปล่งเสียง การแยกความแตกต่างของเสียง การเลียนเสียง การเรียนรู้ความหมายและอื่นๆมาเป็นลำดับ
1.2.4 ความสัมพันธ์ของพัฒนาการแต่ละด้าน พัฒนาการของเด็กเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายด้านผสมผสานกัน พัฒนาการทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ สังคม สติปัญญา มีความสำคัญเสมอภาคและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด การเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้พัฒนาการด้านอื่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งในทางบวกและทางลบ เช่น เด็กที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีอารมณ์แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์ เข้ากับผู้อื่นได้ดี และมีความสนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว ในทางตรงกันข้าม เด็กที่สุขภาพไม่ดี มักประสบปัญหาด้านการเจริญเติบโตของร่างกายล่าช้า หรือหยุดชะงักชั่วขณะหนึ่ง อารมณ์หงุดหงิด มีอาการเศร้าซึม ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นยาก และขาดสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
1.2.5 ลักษณะเด่นของพัฒนาการ แต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงตามขั้นตอนของพัฒนาการ ลักษณะบางอย่างอาจพัฒนาเร็วกว่าลักษณะอื่นและสังเกตเห็นเด่นชัดได้ เช่น ในช่วงอายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มรับรู้และสังเกตความแตกต่างทางเพศ เมื่ออายุ 4 ปี จะช่างซักถาม สนใจเล่นร่วมกับผู้อื่น พออายุ 5 ปี จะชอบความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ลักษณะเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เมื่อเด็กอายุมากขึ้นก็จะพัฒนาไปตามวุฒิภาวะและจากมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่ได้รับ
1.2.6 ความคาดหวังของพัฒนาการ พัฒนาการมนุษย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีขั้นตอนและได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอน จึงสามารถทำนาย คาดหวังความสามารถและพฤติกรรมตามขั้นพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็กอย่างคร่าวๆ ได้ ทั้งนี้เมื่อเด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างเหมาะสมตามวุฒิภาวะและความพร้อม พัฒนาการก็สามารถดำเนินไปด้วยดีสมวัย หากมีอุปสรรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงใดของพัฒนาการ ก็ย่อมส่งผลต่อแบบแผนพัฒนาการขั้นต่อไปให้หยุดชะงักเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติและอาจส่งผลระยะยาวไปจนตลอดชีวิตได้
1.2.7 ความเสื่อมของพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา มีทั้งการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะหรือความสามารถใหม่ๆ และความเสื่อมหรือการสูญเสียคุณลักษณะหรือความสามารถเดิมบางอย่าง เช่น เด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนจึงเกิดฟันแท้เข้ามาแทนที่ เด็กจะพูดเสียงอ้อแอ้ที่ฟังไม่รู้เรื่องก่อนจึงพูดชัดเจนขึ้นมาในช่วงบั้นปลายของชีวิต การเสื่อมมีมากกว่าการพัฒนา
1.3 ลักษณะของพัฒนาการ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้นและมีทิศทางการพัฒนาที่แน่นอน คือ
1.3.1 พัฒนาการด้านร่างกาย หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางร่างกายเริ่มต้นจากส่วนบนไปสู่ส่วนล่าง (Cephalous – Caudal Development) และจากแกนกลางไปสู่ส่วนข้าง (Proximal-Distal Development) สำหรับความสามารถทางการเคลื่อนไหวร่างกายจะพัฒนาทักษะทางการเคลื่อนไหวทั่วไป ไปสู่การเคลื่อนไหวแบบเจาะจง
1.3.2 พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก จะพัฒนาจากการรับรู้ความรู้สึกทั่วไปไปสู่ความรู้สึกที่ละเอียดลึกซึ้ง จากการรับรู้ความรู้สึกของตนเองไปสู่การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น
1.3.3 พัฒนาการด้านสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการติดต่อและสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น จะพัฒนาจากความผูกพันใกล้ชิด พึ่งพาพ่อแม่ในครอบครัว ไปสู่การพึ่งตนเอง และการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
1.3.4 พัฒนาการด้านสติปัญญา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถทางการรู้คิด จะพัฒนาจากการรับรู้ด้วยประสามสัมผัสและการรู้คิดเชิงรูปธรรม (Concrete Thought) ไปสู่ความเข้าใจในการใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Thought) แล้วจึงรู้จักคิดเป็นนามธรรม (Abstract Thought) รวมทั้งความคิดที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric Thought) ไปสู่การใช้ความคิดที่มีเหตุผล (Reasoning)
1.4 อัตราของพัฒนาการ ขีดความสามารถตามพัฒนาการของเด็กปฐมวัยแต่ละคนจะเร็วหรือช้ากว่าอัตราที่เป็นเกณฑ์ปกติได้และมีความแตกต่างกัน คือ
1.4.1 ความแตกต่างภายในบุคคล (Intra-Individual Differences) ธรรมชาติได้กำหนดให้พัฒนาการของระบบและส่วนต่างๆของร่างกายภายในตัวเด็กแต่ละคน มีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากันในช่วงอายุหนึ่งๆ ของบุคคลนั้นเช่นกัน ในช่วงวัยทารก พัฒนาการทางร่างกายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาในช่วงปฐมวัย พัฒนาการของสมองอยู่ในอัตราสูงกว่าการเจริญเติบโตของอวัยวะอื่นๆ เป็นต้น
1.4.2 ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Inter-Individual Differences)แม้ว่าเด็กทุกคนจะมีแบบแผนของพัฒนาการเหมือนกันและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ความสามารถที่จะพัฒนาให้ไปถึงจุดเดียวกันเมื่ออายุเท่ากัน อาจแตกต่างกันได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากระดับวุฒิภาวะที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับจากสภาพแวดล้อม จะเป็นตัวกระตุ้นหรือขัดขวางศักยภาพ การแสดงความสามารถของเด็กแต่ละคน
จากความรู้ทางด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัยนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาการเด็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวมีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กก็จะเป็นข้อมูลความรู้ในการนำไปใช้เพื่อการพัฒนา ตลอดจนประยุกต์ความรู้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการพัฒนาเด็กต่อไป

  สำหรับบทความนี้นะคะ  ก็ได้ความารู้เกี่ยวกับเรื่องหลักการพัฒนาการสำหรับเด็ก เป็นแนวทางที่เราจะสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กได้อย่างถูกต้องค่ะ

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เด็กกับนิทาน

   สร้างสมองลูกน้อยด้วยนิทาน


นิทานคือ โลกของภาษา ภาพและตัวหนังสือที่ปรากฏบนหนังสือนิทาน คือโลกของภาษา

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงมีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาของเด็ก เปรียบเหมือนอาหารมื้อหนึ่งของวัน เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจของลูก
พ่อแม่ทุกคนอยากให้เด็กรักการอ่านหนังสือ และเรียนเก่ง

การทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือไม่ยากเพราะเด็ก มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกสนาน ถ้าได้หนังสือที่ชอบและยากอ่าน

ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่า นิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ


       หนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย  ควรเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งหมายถึงหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง การเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงของพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้เล่า


       การใช้ภาษาที่ดี เวลาเล่า ความรู้สึกของผู้เล่าจะผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย ถ้าผู้เล่านิทานรู้สึกตื่นเต้น ลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ความรู้สึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และเด็กระหว่างการเล่านิทาน


       จึงเปรียบเสมือนสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การเล่านิทานแม้เพียง 5 - 10 นาทีต่อเล่ม ส่งผลที่มีต่อพัฒนการของลูกและความสุขในครอบครัวนั้นมหาศาล

       ลูกจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สร้างจินตนาการแก่เด็ก ฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักสำรวจให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเตรียมความพร้อม ด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน

       วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราวสำหรับเด็ก


       1 เลือกนิทานหรือเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก
       2 การเล่านิทานที่นิยมมี 2 วิธี ดังนี้
       การเล่าเรื่องปากเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ : เป็นการเล่านิทานด้วยการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาของผู้เล่า
      การเล่าเรื่องโดยมีอุปกรณ์ช่วย เช่น กล่องกระดาษ กิ่งไม้ภาพ ภาพพลิก หุ่นจำลอง หน้ากาก  นิ้วมือ

ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่า นิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ


นิทานคือ โลกของภาษา ภาพและตัวหนังสือที่ปรากฏบนหนังสือนิทาน คือโลกของภาษา
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงมีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาของเด็ก เปรียบเหมือนอาหารมื้อหนึ่งของวัน เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจของลูก
พ่อแม่ทุกคนอยากให้เด็กรักการอ่านหนังสือ และเรียนเก่ง

การทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือไม่ยากเพราะเด็ก มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกสนาน ถ้าได้หนังสือที่ชอบและยากอ่าน
หนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย  ควรเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งหมายถึงหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง การเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงของพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้เล่า


การใช้ภาษาที่ดี เวลาเล่า ความรู้สึกของผู้เล่าจะผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย ถ้าผู้เล่านิทานรู้สึกตื่นเต้น ลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ความรู้สึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และเด็กระหว่างการเล่านิทาน


จึงเปรียบเสมือนสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การเล่านิทานแม้เพียง 5 - 10 นาทีต่อเล่ม ส่งผลที่มีต่อพัฒนการของลูกและความสุขในครอบครัวนั้นมหาศาล


ลูกจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สร้างจินตนาการแก่เด็ก ฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักสำรวจให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเตรียมความพร้อม ด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน

วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราวสำหรับเด็ก


1 เลือกนิทานหรือเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก

2 การเล่านิทานที่นิยมมี 2 วิธี ดังนี้
การเล่าเรื่องปากเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ : เป็นการเล่านิทานด้วยการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาของผู้เล่า
การเล่าเรื่องโดยมีอุปกรณ์ช่วย เช่น กล่องกระดาษ กิ่งไม้ภาพ ภาพพลิก หุ่นจำลอง หน้ากาก  นิ้วมือ
   "แล้ววันนี้ นิทานสำหรับเด็ก จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ประทับใจลูกท่านตลอดไป"
 

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย

การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กได้อย่างดีด้วย
หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. องค์ประกอบของการเตรียมความพร้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เป็นความรู้พื้นฐานของการเตรียมความพร้อมที่ยึดตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจแบ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ
1.1 พัฒนาการ ในวัยที่แตกต่างกัน เด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการแต่ละด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แตกต่างกัน การเตรียมความพร้อมจำเป็นจะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กตามขั้นตอนของพัฒนาการ เช่น ฝึกให้เด็กอายุ 3 ขวบ เขียนรูปสามเหลี่ยม เด็กไม่สามารถทำได้เนื่องจากการบังคับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่ดีเท่าที่ควร การให้เด็กฝึกขีดเขียนลากเส้นตามใจชอบ จะช่วยเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและความพร้อมของเด็ก เมื่อถึงเวลาแสดงออก โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับเด็กให้เปล่าประโยชน์
1.2 ระดับวุฒิภาวะ เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามเวลาที่กำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอัตราเร็วช้า แตกต่างกันได้ การเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าเด็กมีระดับวุฒิภาวะที่พร้อมแสดงออก ซึ่งเด็กก็จะสามารถแสดงพฤติกรรมหรือความสามารถนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การฝึกให้เด็กเขียนหนังสือในขณะที่เด็กอายุ 3 ปี ย่อมเกิดขึ้นได้ยากมากและใช้เวลานานกว่าการสอนเด็กอายุ 5 ปี
1.3 ความต้องการ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วยให้การเตรียมความพร้อมของเด็กเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งได้รับความรัก ความอบอุ่นใจ และการยอมรับตนเอง จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป
1.4 ความสนใจ ลักษณะเด่นของเด็กปฐมวัย คือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบตรวจค้นและสำรวจสิ่งรอบตัว ทั้งยังชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การจัดกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำ ค้นคว้า ทดลอง เรียนรู้ปนเล่นอย่างอิสระจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองพอใจ จะช่วยสร้างเสริมความพร้อมทางการเรียนรู้แต่ละด้านได้เป็นอย่างดี
1.5 ความสามารถ เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแตกต่างกัน ทั้งนี้จากอิทธิพลของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและประสบการณ์ได้รับจากสภาพแวดล้อม สังเกตได้ว่า เด็กที่พ่อแม่เป็นนักดนตรี มักมีความสามารถทางดนตรีเป็นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา มักมีความสามารถพิเศษทางการได้ยิน จำแนกเสียง การเตรียมความพร้อมได้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านนั้นได้ดียิ่งขึ้น
2. ลักษณะของการเตรียมความพร้อม การจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในขั้นต่อไป คือ
2.1 ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ สุขภาพอนามัย ความแข็งแรงของส่วนต่างๆทางร่างกาย สมรรถภาพการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ของประสาทสัมผัส การรู้จักช่วยเหลือตนเอง
2.2 ความพร้อมทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ สุขภาพจิต การรู้จักตนเอง การแสดงออกเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
2.3 ความพร้อมทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม การยอมรับค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ
2.4 ความพร้อมทางสติปัญญา ได้แก่ สมรรถภาพการรับรู้ ความสามารถทางการเรียนรู้ การรู้จักคิดด้วยเหตุผลและการแก้ปัญหา ความสนใจสิ่งรอบตัว ความสามารถในการสังเกตและการจดจำ การใช้ภาษาสื่อความหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. หลักทั่วไปของการเตรียมความพร้อม การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะบังเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างเหมาะสม คือ
3.1 ธรรมชาติของเด็ก เด็กทุกคนมีแบบแผนการเจริญเติบโตโดยส่วนรวมเหมือนกัน แม้กระนั้นเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมของเด็กที่สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรม ระดับวุฒิภาวะ ความต้องการ ความสนใจและความสามารถของเด็กเป็นตัวบุคคลควบคู่ไปกับพัฒนาการตามวัยหรือช่วงอายุของเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีในการพัฒนาตนเองและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ตามศักยภาพของตน
3.2 วิธีการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด หรือ
สถานการณ์ใด การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและระดับความสามารถของเด็ก รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงหรือได้ลงมือกระทำ สัมผัส สำรวจ ค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆรอบตัวจากการเล่นอย่างอิสระ หรือเล่นปนเรียนตามความพอใจของเด็ก จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และใฝ่รู้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นใจในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี
3.3 แนวการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ประสบการณ์ที่เด็กได้รับควรมีลักษณะบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ในรูปแบบของกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความพร้อมทุกๆด้านของเด็กอย่างผสมผสานไปด้วยกัน โดยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนฝึกฝนลักษณะนิสัยและทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมของเด็ก
3.4 ลักษณะของกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายสอดคล้องกับความต้องและความสนใจของเด็กแต่ละวัย โดยสอดแทรกการเล่นหรือเกมการศึกษา จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายและสนุกสนาน ทั้งนี้กิจกรรมควรมีความยากง่ายปะปนกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และมีความสมดุลของกิจกรรมลักษณะต่างๆ เช่น กิจกรรมในร่ม-กลางแจ้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหว-สงบ เป็นต้น
3.5 การจัดสภาพแวดล้อม เด็กทุกคนต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตภาพ กล่าวคือ เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเครื่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามวัย และความสนใจของเด็ก รวมทั้งเกิดความรู้สึกที่ดี อบอุ่น มั่นคง ด้วยการดูแล เอาใจใส่ แนะนำตักเตือนอย่างใกล้ชิด มีเหตุผลจากผู้ใหญ่และโอกาสที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันกับเด็กอื่นวัยเดียวกันหรือต่างวัยอย่างสม่ำเสมอ

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีพัฒนาการต่อจากวัยทารกอยู่ในช่วงอายุ 3 – 6 ปี ซึ่งนักจิตวิทยาและนักการศึกษา ต่างให้ความสำคัญกับเด็กในวัยนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และมีพัฒนาการทางด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสัดส่วนในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่มากขึ้น ความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ รวมถึงรูปแบบการคิดอ่าน การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ซึ่งโดยปกติเด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการที่สำคัญคือ (http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/rapc/c4.html)
1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น แขนและขาจะยาวออกไป ศีรษะจะได้ขนาดกับลำตัว โครงกระดูกแข็งแรงขึ้น เริ่มมีทักษะในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น รู้จัก การป้อนข้าวเอง แต่งตัวได้เอง ใส่รองเท้าและอาบน้ำได้ด้วยตนเอง ในปลายวัยเด็กตอนต้นฟันแท้จะเริ่มขึ้น 1-2 ซี่
2. พัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัยนี้มักเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิด โกรธง่าย ดื้อรั้นเป็น
วัยที่เรียกว่าชอบปฏิเสธ และอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเอง เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนและมีเพื่อนเล่น แต่อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
3. พัฒนาการทางสังคม เริ่มรู้จักการคบเพื่อน เล่นกับเพื่อน ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน รู้จัก
การร่วมมือ การยอมรับฟัง เริ่มรู้จักการแข่งขันระหว่างกลุ่มเมื่ออายุ 4-5 ขวบ และมักเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน การเล่นกับเพื่อนนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง
4. พัฒนาการทางภาษา จะเป็นไปทีละขั้น เริ่มใช้ภาษาได้ดีพอสมควร รู้จักศัพท์เพิ่มขึ้น
รวดเร็ว เรียนรู้คำใหม่ๆมากขึ้น
บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยต่อพัฒนาการทางภาษา

จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กในวัยนี้ ควรให้ความสนใจ เพื่อเป็นรากฐานในการนำความรู้ไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งบุคคลที่สำคัญกับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนครู อาจารย์ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็ก ได้เข้าใจและนำความรู้ไปปฏิบัติต่อไป
บทบาทของผู้ปกครอง
สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้กับเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะพ่อและแม่ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนแรกของชีวิต โดยเด็กจะเรียนรู้ทักษะทางภาษาจากพ่อและแม่ทั้งจากการฟัง และการเลียนแบบการใช้ถ้อยคำต่างๆของบุคคลในครอบครัว ดังนั้น พ่อและแม่จึงควรปฏิบัติตนเพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะทางภาษาแต่ละด้าน ดังนี้
1. พ่อแม่ควรพูดให้ชัดเจน ออกเสียงให้ชัด พูดให้ถูกต้อง ไม่ล้อเลียนเด็กโดยการแกล้ง
พูดไม่ชัด หรือพูดภาษาของเด็ก และควรใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้นตามลำดับเพื่อความก้าวหน้าทางภาษาของเด็ก
2. พ่อแม่ควรใช้ภาษาให้เหมาะกับวัยของเด็กและควรพูดกับเด็กบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้
เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ได้มากขึ้น
3. พ่อแม่ควรแก้ไขข้อบกพร่องในการออกเสียงของเด็ก ทั้งในด้านการใช้คำและประโยค เพื่อกระตุ้นให้เด็กเลียนแบบแทนการดุว่า ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ความเครียด และอาจนำไปสู่การพูดติดอ่าง
4. พ่อแม่ควรให้เวลากับเด็กอย่างน้อยวันละประมาณ 15 นาที ในการอ่านหนังสือให้
เด็กฟัง โดยมีภาพประกอบ มีการสนทนาซักถามโต้ตอบ
5. จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ มีมุมหนังสือ หนังสือภาพ หนังสือนิทาน วิทยุและสื่ออื่นๆ
ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษา สนใจภาษา และมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น

บทบาทของครูปฐมวัย
เมื่อถึงเวลาเข้าสู่สังคมแห่งการศึกษาในโรงเรียน บุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้ “พ่อ” “แม่” นั่นคือ ครู เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ครูจะเป็นผู้ที่คอยให้ความรู้และรักษากฎระเบียบ โดย ครูเฉพาะการเป็นตัวแบบที่ดีให้กับเด็ก ซึ่งครูมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. ความรู้ของครู หากครูมีความรู้เกี่ยวกับหลักการและวิธีการพัฒนาทักษะทางภาษาได้
ดีก็จะช่วยให้เข้าใจและเลือกวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้เหมาะสมกับระดับวุฒิภาวะ ทำให้การพัฒนาทักษะทางภาษาได้ดี
2. เจตคติของครู หรือความรู้สึกที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางภาษา ย่อม
แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และคำพูดให้เด็กทราบและมองเห็นคุณค่าของการฝึกทักษะต่างๆ นอกจากนี้ครูยังพยายามหาวิธีการสอนและเวลาสำหรับฝึกทักษะให้กับเด็กด้วยความสนใจ เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ
3. บุคลิกภาพและพฤติกรรมของครู เนื่องจากเด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากครู
ดังนั้น หากครูมีบุคลิกภาพโดยเป็นผู้ฟังที่ดี สนใจและตั้งใจฟังที่เด็กพูด เด็กก็จะเป็นคนที่มีมารยาทในการฟังที่ดี มีสมาธิในการฟัง
4. ความสามารถในการใช้ภาษาของครู หากครูมีความสามารถในการเลือกใช้คำ หรือ
ประโยคได้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะเป็นต้นแบบสำหรับเด็กได้
5. การสอนของครู ครูมีบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ถ้าครูจัด
กิจกรรมฝึกทักษะทางภาษาให้เด็กได้ครบตามความมุ่งหมายและประเภทของแต่ละทักษะแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็จะสมบูรณ์และมีประสิทธิผลสูง แต่ถ้าครูฝึกทักษะทางภาษาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่นำทักษะด้านอื่นๆ มาสัมพันธ์หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เด็กขาดทักษะทางภาษาบางด้าน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พัฒนาการทางภาษาของเด็กจะไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลักษณะของช่วงวัย หากขาดการได้รับการดูแลเอาใจใส่ ตลอดจนการได้รับรูปแบบการสอนในการเพิ่มทักษะทางภาษาที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ จากทางครอบครัวและจากโรงเรียน ซึ่งหากเด็กได้รับการอบรมและเพิ่มพูนทักษะอย่างเหมาะสมก็จะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมและมีรากฐานที่ดีในการเรียนรู้ทักษะต่างๆของชีวิตต่อไป






ปัญหาในการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัย

ปัญหาในการใช้ภาษาถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่สำคัญกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย เนื่องจาก ภาษาเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้สิ่งต่างๆของเด็ก ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาทิ อาการผิดปกติของระบบสมองและประสาท ที่บังคับควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด หูหนวกทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ผู้อื่นพูด เมื่อไม่ได้ยินเสียง เด็กจึงไม่สารถเลียนแบบเสียงผู้อื่นเพื่อฝึกพูดได้ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกาย อาการตึงเครียดทางอารมณ์ทำให้หมดความสนใจที่จะฝึกฝนการพูดก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่เกี่ยวข้อง
เด็กบางคนอาจมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งอาการพูดติดอ่างนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น
- เติบโตช้าผิดปกติ สมองช้า
- มีอารมณ์ประเภทต่างๆรุนแรงเกินสมควร เช่น ตื่นเต้น หวาดกลัว วิตกกังวล
เศร้าโศก เสียใจ ระวังตนเองมากเกินไป
- สมองคิดเร็วเกินกว่าที่จะพูดออกมาทัน
- ถูกล้อเลียนทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ประหม่า ไม่แน่ใจ เคร่งเครียด
เพราะถูกกวดขันอย่างเข้มงวด
พัฒนาทางภาษาของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการภาษาพูด มีลำดับขั้น ตั้งแต่วัยทารก จนสิ้นสุดระยะวัยเด็กตอนต้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexive Vocalization)
การใช้ภาษาของเด็กในระยะนี้ คือ ตั้งแต่คลอดถึงอายุหนึ่งเดือนครึ่ง เป็นแบบปฏิกิริยาสะท้อนเทียบเท่ากับภาษาหรือการสื่อความหมายของสัตว์ประเภทอื่นๆ เสียงนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติและไม่มีความหมายในขั้นแรก แต่เมื่ออายุราวหนึ่งเดือนล่วงแล้ว ทารกอาจเปล่งเสียงต่างกันได้ตามความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ ง่วง หิว ฯลฯ
ขั้นที่ 2 ขั้นเล่นเสียง (Babbling Stage)
อายุเฉลี่ยของทารกในขั้นนี้ ต่อจากขั้นที่ 1 จนถึงอายุราว 8 เดือน อวัยวะในการเปล่งเสียงและฟังของทารก เช่น ปาก ลิ้น หู เริ่มพัฒนามากขึ้น เป็นระยะที่ทารกได้ยินเสียงผู้อื่นและเสียงตนเอง สนุกและสนใจลองเล่นเสียง (Vocal Play) ที่ตนได้ยิน โดยเฉพาะเสียงของตนเอง แต่เสียงที่เด็กเปล่งก็ไม่มีความหมายในเชิงภาษา ระยะนี้ทารกทุกชาติทำเสียงเหมือนกันหมด แม้เสียงที่เด็กเปล่งยังคงไม่เป็นภาษา แต่ก็มีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาการพูด เพราะเป็นระยะที่เด็กได้ลองทำเสียงต่างๆทุกชนิด เปรียบเสมือนการซ้อมเสียงซอของนักสีซอก่อนการเล่นซอที่แท้จริง
ขั้นที่ 3 ขั้นเลียนเสียง (Lalling Stage)
ระยะนี้ทารกอายุประมาณ 9 เดือน เขาเริ่มสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น นอกจากเล่นเสียงของตนเอง ระยะนี้ประสาทรับฟังพัฒนามากยิ่งขึ้น จนสามารถจับเสียงผู้อื่นพูดได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ประสาทตาจับภาพการเคลื่อนไหวของริมฝีปากได้แล้ว จึงรู้จักและสนุกที่จะเลียนเสียงผู้อื่น ระยะนี้เขาเลียนเสียงของตัวเองน้อยลง การเลียนเสียงผู้อื่นยังผิดๆถูกๆและยังไม่สู้จะเข้าใจความหมายของเสียงที่เปล่งเลียนแบบผู้ใหญ่ เด็กหูหนวกไม่สามารถพัฒนาทางด้านภาษามาถึงขั้นนี้ ขั้นนี้เป็นระยะที่ทารกเริ่มพูดภาษาแม่ของตน
ขั้นที่ 4 ขั้นเลียนเสียงได้ถูกต้องยิ่งขึ้น (Echolalia)
ระยะนี้ทารกอายุประมาณ 1 ขวบ ยังคงเลียนเสียงผู้ที่แวดล้อมเขา และทำได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เลียนเสียงตัวเองน้อยลง แต่ยังรู้ความหมายของเสียงไม่แจ่มแจ้งนัก
ขั้นที่ 5 ขั้นเห็นความหมายของเสียงที่เด็กเลียน (True Speech)
ระยะนี้ทารกอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ความจำ การใช้เหตุผล การเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ทารกได้รู้เห็นพัฒนาขึ้นแล้ว เช่น เมื่อเปล่งเสียง “แม่” ก็รู้ว่าคือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มชูดูแลตน การพัฒนามาถึงขั้นนี้เป็นไปอย่างบังเอิญ (ไม่ได้จงใจ) แต่ต่อมาจากการได้รับการตอบสนองที่พอใจและไม่พอใจ ทำให้การเรียนความสัมพันธ์ของเสียงและความหมายก้าวหน้าสืบไป
ในระยะแรก เด็กจะพูดคำเดียวก่อน ต่อมาจึงจะอยู่ในรูปวลีและรูปของประโยค ตั้งแต่ยังไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ไปจนถึงถูกหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ นักภาษาศาสตร์ได้ทำ การวิจัยทางเด็กที่พูดภาษาต่างๆทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันว่า พัฒนาการทางภาษาตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งถึงห้าข้างต้นอยู่ในระยะวัยทารก ส่วนระยะที่เด็กเข้าใจภาษาและใช้ภาษาได้อย่างอัตโนมัติเหมือนผู้ใหญ่นั้น อยู่ในระยะเด็กตอนต้นหรือช่วงปฐมวัยนั่นเอง ซึ่งพัฒนาการทางภาษาที่น่าสนใจก็คือ ความยาวของประโยค ยิ่งเด็กโตขึ้นก็จะยิ่งสามารถพูดได้ประโยคยาวขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถทางการใช้ภาษาของเด็กได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ หากจะพิจารณารูปแบบของพัฒนาการทางภาษาในรูปแบบเชิงพฤติกรรม สามารถอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยแบ่งออกได้เป็น 7 ระยะ ดังนี้ คือ
1. ระยะเปะปะ (Random Stage) อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ในระยะนี้พบว่าเด็กมี
การเปล่งเสียงอย่างไม่มีความหมาย
2. ระยะแยกแยะ (Jergon Stage) อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในระยะนี้เด็กจะเริ่มแยกแยะ
เสียงที่เขาได้ยินในสภาพแวดล้อมและแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจถ้าหากเปล่งเสียงแล้วได้รับการตอบสนองทางบวก
3. ระยะเลียนแบบ (Imitation Stage) อายุ 1 ถึง 2 ปี เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ
เสียงของเด็กที่เปล่งจะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น
4. ระยะขยาย (The Stage of Expansion) อายุ 2 ถึง 4 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มหัดพูดเป็น
คำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนาม เรียกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆที่อยู่รอบตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน
5. ระยะโครงสร้าง (Structure Stage) อายุ 4 ถึง 5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัย
นี้ดีขึ้นมาก ทำให้เด็กได้สังเกตการณ์ใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้าง และนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น การฟังนิทาน ดูรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
6. ระยะตอบสนอง (Responding Stage) อายุ 5 ถึง 6 ปี พัฒนาการทางภาษาของเด็ก
วัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล เด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยคอย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ การใช้ภาษามีแบบแผนมากขึ้น
7. ระยะสร้างสรรค์ (Creative Stage) อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนา
ความสามารถทางภาษาได้สูงขึ้น สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้น สำหรับด้านการพูด สามารถใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวน หรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้

ระยะของพัฒนาการทางภาษาแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่เด็กจะสามารถพูดคำแรกออกมา เช่น “แม่” “ป้อ” ฯ จนกระทั่งสามารถพูดเป็นประโยคได้นั้น เด็กต้องผ่านกระบวนการสำคัญของพัฒนาการหลายขั้นตอน ทักษะทางภาษาขั้นแรกของเด็ก คือ การร้องไห้ แม้ว่าระยะแรกเด็กจะยังไม่สามารถพูดได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการสูญเปล่า แต่เด็กกำลังฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อปากและลิ้นให้ทำงานประสานกัน สังเกตเห็นได้จากทารกแบเบาะจะอ้าปาก ขยับปากบ่อยครั้ง รวมถึงแลบลิ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดในอนาคต ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของเด็กก่อนการพูด คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งกระบวนการนี้ เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงแรกๆของชีวิต และเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน เด็กก็สามารถใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ โดยอาจใช้วิธีการทำเสียงต่างๆประกอบ จากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้น พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการพูด การเรียนรู้คำศัพท์ เป็นต้น
การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)
สำหรับเด็กปฐมวัย

            ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
            สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
            การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง  2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ

            การทำงานของสมอง
            สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
            สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง
            จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
            สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย
            นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต

การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน
            หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  
            1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ
            2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น   
            3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข 
            4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
            5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี
            6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา
            7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม 
            8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

               กระบวนการจัดการเรียนรู้
            เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ  ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา  บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม

ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
1.      ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 
     ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน
               การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ
                    
                       ฉันฟัง  ฉันลืม
                        ฉันเห็น  ฉันจำได้
                        ฉันได้ทำ  ฉันเข้าใจ

            2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด
          3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา


สารอาหารบำรุงสมอง
           อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง
           ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง
           ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว
ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น
           ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง
           วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
           ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง
           ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้
           การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  

               เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล
               ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย   ลูกไม่เข้าใจ  ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย 
               รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก  แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ  แสดงความใส่ใจต่อลูก  นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ
            คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี