วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กขี้กลัว แก้ไขอย่างไร

 ความกลัวของเด็กมีให้ผู้ใหญ่เห็นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงขวบ ที่เห็นชัดก็คือ กลัวการพลัดพราก หรือเรามักจะเรียกว่า อาการติดแม่ เมื่อโตขึ้นมามีการเรียนรู้มากขึ้น รู้ประสามากขึ้น ก็มีความกลัวหลากหลายขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดความกลัวก็แตกต่างกันไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการกลัวที่มากจนเกินไป ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ หรือถ้าโตขึ้นไปก็เป็นปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมทีเดียว

  เรามารู้จักความกลัวของเด็กๆ เพื่อแก้ไขไม่ให้เด็กกลัวมากเกินไป และให้กลัวในบางสิ่งบางอย่างกันค่ะ

กลัว...พฤติกรรมปกติของมนุษย์
 มนุษย์เราต้องมีความกังวลหรือความกลัว เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย ธรรมชาติของเด็กจะกลัวสิ่งต่างๆ สูงสุดในช่วง 3-5 ปี และจะมีพัฒนาการเรื่องความกลัวที่เป็นไปตามช่วงวัย การกลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด ในเด็กวัยนี้ ก็ถือว่าเป็นความกลัวตามปกติ แต่ถ้าความกลัวมีมากเกินไปและติดตัวจนเข้าสู่วัยรุ่นก็ก่อให้เกิดผลเสียอื่นๆ ตามได้


กลัว..อะไรบ้าง
 มานึกถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆ มีอาการกลัวสารพัด ทั้งกลัวความสูง กลัวสัตว์บางชนิด กลัวความมืด กลัวผี เด็กๆ ก็ไม่ต่างกัน มีความกลัวแตกต่างกันออกไป
 กลัวการแยกจาก จะพบได้บ่อยมากในเด็กวัยนี้ เป็นความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้เจอพ่อแม่ จึงทำให้มีปัญหาติดแม่ ไม่ยอมไปโรงเรียน ถ้าเป็นมากเด็กจะมีอาการทางกายเช่น ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน หรือปวดท้องบ่อยๆ
 กลัวคนแปลกหน้า นับเป็นเรื่องธรรมดาของวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าโตขึ้นมาแล้วยังมีปัญหานี้อยู่ เด็กจะมีลักษณะไม่พูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าแสดงออก ไม่ค่อยมีเพื่อน เป็นต้น
 กลัวบางสิ่งบางอย่าง เช่น กลัวสุนัข กลัวหุ่นแมสคอต กลัวเสียงฟ้าร้อง กลัวผี กลัวความมืด เป็นต้น


สาเหตุที่ทำให้...กลัว
1. การพูดขู่ การหลอก หรือทำให้เด็กตกใจอยู่บ่อยๆ มีความรู้สึกฝังใจกับเรื่องนั้นๆ จากสาเหตุนี้คนที่เป็นต้นเหตุคือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั่นเอง
2. พ่อแม่ หรือคนที่อยู่ใกล้ชิด มีอาการวิตกกังวล หรือเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นเป็นประจำ เช่น คุณแม่กลัวแมลงสาป เมื่อเห็นแมลงสาปทีไร ต้องวิ่งหนี กระโดดหนี หรือร้องเสียงดังทุกครั้ง
3. มีประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างมาก หรือกระทบใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกตีอย่างแรง ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว  หรือได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก่อนจึงทำให้รู้ไม่ปลอดภัย ต้องคอยระแวง ระวังไว้ก่อน
4. ขาดความอบอุ่น ความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่มีการฝึกทักษะด้านต่างๆ ขาดความมั่นใจ
5. พื้นฐานอารมณ์ที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เด็กบางคนนิ่งๆ ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก บางคนกล้าเจออะไรใหม่ๆ ก็ให้ความสนใจอย่างรวดเร็ว


เปลี่ยนกลัว... ให้กล้า
 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างดูเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา และวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่เด็กๆ ก็เปรียบเสมือไม้อ่อน ที่ยังสามารถดัดได้ แก้ไขได้ แม้จะต้องอาศัยความใจเย็น และอดทนของผู้ใหญ่ที่คอยให้ความช่วยเหลือเป็นสำคัญนั่นเอง
  - ปรับความคาดหวัง พ่อแม่ ไม่ควรคาดหวังลูก ให้มีความกล้าเหมือนเด็กคนอื่น หรือเหมือนที่ตนเองตั้งใจ เพราะความคาดหวังนั้นจะกลายเป็นความกดดันลูก และทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองได้ ข้อที่ควรจำเป็นอันดับแรก คือ เข้าใจธรรมชาติของลูกว่ามีความกลัวมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ
  - ไม่พูดข่มขู่ ทั้งคำพูดและท่าทางที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกอย่างรุนแรงจะไปเพิ่มความหวาดกลัวให้ลูกดังนั้นจึงใช้วิธีการพูดที่อ่อนโยน การใช้เหตุผลที่เหมาะกับวัยในการพูดคุยกับลูกมากกว่า รวมถึงการพูดหลอก พูดขู่ต่างๆ เช่น “ไม่กินข้าวเดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ” “ดื้อมากเดี๋ยวให้หมดฉีดยาเลย” “ไม่หลับตานอนมืดๆ แล้วตุ๊กแกจะมากินตับ” ประโยคเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กเกิดความกลัว และมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น
  - ปลอบใจลูกเสมอ เมื่อลูกเกิดความกลัว ต้องปลอบโยนบอกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นๆ
  - ฝึกลูกช่วยเหลือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป และในด้านความคิด ต้องหมั่นให้ลูกตัดสินใจทำด้วยตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกเกิดความมั่นใจ 
  - ไม่เร่งจนเกินไป การลดความหวาดกลัวของเด็ก ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรตั้งระยะเวลาเอาไว้ หรือจะให้ลูกหายกลัวภายในกำหนดของผู้ใหญ่ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะการปรับตัวไม่เท่ากัน และต้องให้ลูกเผชิญสิ่งที่ลูกกลัวทีละน้อย คอยให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ


 ความกลัวก็ใช่ว่าจะเป็นผลเสียไปซะหมด เพราะการกลัวบางอย่างเป็นผลดี เช่น กลัวอันตราย จึงต้องระมัดระวัง ซึ่งเรื่องเช่นนี้พ่อแม่ต้องสอนแบบเด็ดขาด คือ ใช้ลักษณะคำสั่งห้ามถ้าสิ่งนั้นๆ จะทำให้เกิดอันตราย เช่น การเล่นปลั๊กไฟ หรือของมีคมต่างๆ เป็นต้น ส่วนการกลัวอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ควรมีไว้ประจำใจคือ กลัวบาป ถ้าคนในสังคมกลัวบาป ก็จะช่วยกันสร้างความดี สังคมเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น