วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554



ชวนลูกเล่นกีฬาแบบไม่ต้องบังคับ



ลูกน้อยวัย 3-6 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาการกำลังเจริญเติบโต ซึ่งการออกกำลังกายนอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อต่างๆ ให้แข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมทักษะด้านอื่นของวัยเยาว์ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยค่ะ


ปลูกฝังลูก...รักการออกกำลังกาย
โดยธรรมชาติของเด็กวัยนี้มักมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดได้ไม่นาน ดังนั้นการตั้งกฎเกณฑ์ว่าวันหนึ่งต้องออกกำลังกายอย่างน้อยกี่ชั่วโมง หรือต้องออกกำลังกายแบบนั้นแบบนี้สิดี คงเป็นเรื่องยาก มีแต่จะทำให้ลูกไม่อยากออกกำลังกาย และรู้สึกไม่มีความสุขไปเลยก็ได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้นำที่ดีที่จะพาลูก หรือดึงความสนใจให้ลูกหันมาเล่นกีฬา ด้วยกิจกรรมง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1. สร้างกิจกรรมสนุกๆ กับเพื่อนบ้าน หรือกับพี่น้อง เช่น วิ่งเล่นไล่จับ
    หรือขี่จักรยานด้วยกัน ชวนกันมาเล่นฟุตบอล หรือไปว่ายน้ำ เพื่อให้มี
    การเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น

2. ไปเที่ยวสวนสาธารณะ หรือสปอร์ตคลับ ในวันว่างๆ อย่างวันหยุด
    สุดสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาลูกไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปขี่
    จักรยานด้วยกัน ไปวิ่งออกกำลังกายด้วยกัน หรือพาไปเที่ยวสปอร์ต
    คลับ ลองให้เขาเลือกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ร่วม
    เล่นไปกับลูกด้วย จะทำให้เขารู้สึกมีความสุขกับการเล่นกีฬา และ
    อยากที่จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ควรบังคับให้ลูกเล่นกีฬา แล้วก็ปล่อย
    ให้ลูกอยู่กับครูฝึก ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกแย่ และไม่อยากเล่นกีฬา หรือ
    ออกกำลังกายอีกค่ะ

3. อย่าเน้นการแข่งขัน สำหรับลูกวัยนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษในการเล่นกีฬา คืออย่าเน้นให้เป็นการแข่งขัน เพราะจะเป็น
    การสร้างแรงกดดัน ลูกจะไม่สนุก และไม่อยากเล่นอีก แต่ควรเน้นเรื่องเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานจะดีกว่า เพื่อให้ลูกมี
    ความสุขกับการออกกำลังกาย

4. คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้นำที่ดี พาลูกน้อยทำกิจกรรมต่างๆ และให้เขาได้ออกกำลังกายอย่างที่ชอบ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำ
    ให้ลูกน้อยสนใจการออกกำลังกายมากขึ้นค่ะ

  
การออกกำลังกาย...สร้างเด็กดี
การออกกำลังกาย ได้วิ่งเล่น ได้กระโดดตามใจชอบ จะส่งเสริมให้เด็กมีใจรักกีฬาในอนาคต ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว การเล่นกีฬา ยังสอนให้เขาได้เรียนรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด รู้ว่าแบบนี้ทำได้ แบบนั้นทำไม่ได้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือได้เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมกับคนอื่น รู้เรื่องการแพ้การชนะ เป็นนักกีฬาที่ดีเมื่อโตขึ้นด้วยค่ะ

เพียงคุณพ่อคุณแม่เน้นให้ลูกน้อยได้เล่น ได้วิ่ง ได้เคลื่อนไหวร่างกายตามใจเขา ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี ทำให้เขารักการออกกำลังกาย มีร่างกายแข็งแรงพร้อมทั้งพัฒนาการที่ดี เป็นพลังของเด็กในอนาคตค่ะ
ติดตามการออกกำลังกายสำหรับลูกวัยอนุบาลได้ในนิตยสารรักลูกฉบับมกราคม54 ค่ะ



จาก: นิตยสารรักลูก

Language Exercises for baby

ช่วงขวบปีแรกของลูก อย่าละเลยพัฒนาการด้านภาษาของลูก

 3 ขวบแรกของชีวิต ถือเป็นช่วงทองของพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กค่ะ รวมทั้งพัฒนาการด้านทักษะภาษาและการพูดด้วย ซึ่งหาคุณพ่อคุณแม่ละเลยในการส่งเสริม อาจส่งผลให้พื้นฐานด้านภาษา การพูด และการเรียนรู้ของลูกไม่ดีในอนาคตได้


ภาษาของวัยขวบแรก
ลูกวัยขวบแรกมีพัฒนาการทางภาษา 2 ด้าน คือ

การรับรู้และเข้าใจภาษา หมายถึงความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ และจำความหมายของคำได้ ความเข้าใจภาษาหรือคำศัพท์เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของลูก ซึ่งเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส แม้ว่าช่วงแรกเกิดลูกจะยังพูดไม่ได้ แต่การได้ยินหรือฟังเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จะช่วยให้ลูกรู้จักการฟัง แยกเสียงรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงมีความแตกต่างกัน โดยลูกจะเลือกรับฟังเสียงที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับตัวเองได้ก่อน เช่น เสียงแม่พูด เป็นต้น

จากนั้นจึงรู้จักเชื่อมโยงเสียงที่ได้ยินกับสิ่งที่ลูกมองเห็น คือตัวบุคคล สิ่งของ หรือกิริยาอาการต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและรู้ความหมายของคำพูด และพัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้นตามวัยค่ะ
การแสดงออกทางภาษา หมายถึงความสามารถในการพูด การแสดงท่าทางเพื่อใช้สื่อความหมาย ซึ่งได้จากการสะสมประสบการณ์และการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมทางตรงและทางอ้อม โดยพัฒนาขึ้นจากการเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เชื่อมโยงกับความเข้าใจในคำที่รู้จักซ้ำๆ ลูกจึงจะเกิดความจำและพูดอย่างถูกความหมายได้ในอนาคต


How to exercises
การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกวัยขวบแรกสามารถทำได้ดังนี้

คุยด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ควรเป็นประโยคยาวๆ เพราะลูกวัยนี้ไม่สามารถจับใจความได้ในภาพใหญ่ สอนย้ำๆ บ่อยๆ แม้ลูกวัยขวบแรกจะพูดไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจและจดจำได้ ดังนั้นหากอยากจะสอนคำศัพท์ให้ลูก ควรสอนด้วยคำสั้นๆ ย้ำๆ และควรสอนบ่อยๆ อาจชวนคุยเล่น หรือเป็นคำถามและคำตอบ เช่น นี่สีอะไร...แล้วก็ตอบสีแดง สีส้ม ซึ่งจะทำให้ลูกรู้จักทั้งคำถามและคำตอบ

นวดปาก พัฒนาการด้านภาษาจะต้องอาศัยการเลียนแบบ แต่หากลูกไม่ค่อยยอมออกเสียงคุณพ่อคุณแม่อาจต้องนวดปาก โดยการใช้มือถูเป็นวงรอบๆ ปาก จะสอนให้รู้จักอะไรก็ยกสิ่งนั้นไว้ใกล้ๆ ปาก เพื่อดึงดูดให้ลูกสนใจ และเรียนรู้ว่าเสียงทีได้ยินนั้นคือสิ่งนี้
แต่ถ้าลูกยังทำไม่ได้อาจต้องเริ่มจากออกเสียงสระกับพยัญชนะก่อน เพราะการออกเสียงตรงๆ จะง่ายกว่าคำที่ออกเสียงเป็นคำ เมื่อลูกเริ่มออกเสียงได้ค่อยสอนให้เขางุ้มปากออกมาเป็นคำ เช่น มะ มะ หม่ำ เป็นต้น

ชวนลูกขยับปาก ด้วยการคุยกับลูกและให้ลูกขยับปากมากๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อาจอ้าปากกว้างๆ แล้วบอกให้ลูกลองทำตาม อาจจะออกเสียงอ้า... พร้อมๆ กับการอ้าปากไปพร้อมๆ กัน หรืออาจจะออกเสียงอา...ใส่กล่อง ให้มีการสะท้อนกลับมาเพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกและรู้สึกอยากทำตาม หรือทำปากจู๋ แลบลิ้นแตะซ้ายแตะขวา เล่นทำเสียงบาๆ เป็นต้น หรือออกเสียงต่างๆ กัน เช่น อู อุ๊ อู๋ ให้มีเสียงขึ้นลง หรืออาจจะจับมือลูกให้มารู้จักปาก โดยการเอามือเขามาจับปากพร้อมกับบอกว่า อ้าปาก และพยายามสอนคำศัพท์ต่างๆ ด้วยคำสั้นๆ อาจเอารูปมาชี้ให้ดู หรือเวลาเห็นอะไรก็ชี้แล้วบอก เช่น หมา ตัวนี้เรียกว่า หมา เป็นต้น

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกให้มากๆ อาจหาของเล่นมานั่งเล่นกับลูก พร้อมพูดคุย ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว หรือดู TV ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ลูกมีปัญหาพูดช้าได้ค่ะ

ภาษาเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของลูกในอนาคต ดังนั้น อย่าลืมให้เวลากับลูกและพูดคุยกับลูกมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆ ของลูกให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นอีกด้วยค่ะ


คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอยากเช็กพัฒนาการทางด้านภาษาของลูก อย่าลืมติดตามต่อได้ในคอลัมน์โตวันโตคืน นิตยสารรักลูกฉบับมกราคม 2554 นะคะ




จาก: นิตยสารรักลูกฉบับที่ 336 เดือน มกราคม 2554

แนะนำนิทานภาพ 5 เรื่องดีของโลก



ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ พ.ศ. หนังสือนิทานยังคงเป็นเรื่องเล่าแห่งความสุขของเด็ก ๆ ที่แฝงไปด้วยคติ คำสอน รวมไปถึงความรู้ และจินตนาการต่าง ๆ มากมาย ทำให้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ เป็นประเด็นใหญ่ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์กับเด็กแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
     
เช่นเดียวกับ ทีมงาน Life and Family ที่สนับสนุนให้ทุกบ้านรักการอ่านด้วยการคัดสรรหนังสือดีมีประโยชน์มาฝากกันอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้เรามีนิทานคุณภาพมาแนะนำทิ้งท้ายปีกัน เป็นนิทาน 5 เรื่องเอกของโลกล็อตใหม่จากโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทยปี 3 โดยมูลนิธิซีเมนต์ไทย จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยครับ

คุณยายหมาป่า (Lon Po Po)
เรื่องราวของหนูน้อยหมวกแดงจากเมืองจีน ที่เด็กๆ จะได้ร่วมลุ้นระทึกไปกับความพยายามในการชิงไหวชิงพริบระหว่างเด็กทั้งสามคนกับหมาป่า ส่วนภาพจะใช้เทคนิคสีชอล์ก (Pastel) สร้างภาพประกอบแสดงสีสันแบบจีน สื่อความมีเลศนัย โดยซ่อนรูปลักษณ์ของหมาป่าไว้ในภาพต่างๆ อย่างแนบเนียน เป็นหนังสือที่ได้รางวัลสูงสุดระดับโลกของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

  

คุตา (Granpa)
เป็นเรื่องที่ผู้แต่งต้องการเล่าเรื่องของ "สองฟากฝั่งชีวิต" คู่ขนานกันไป ระหว่างฝั่งที่เริ่มต้นวัยเยาว์อันสดใส ซึ่งผูกพันกับอีกฝั่งที่กำลังโรยรา โดยสองขั้ววัยนั้นถึงแม้จะเล่าเรื่องแบบไม่ต่อเนื่อง แต่เรื่องราวที่ดูเหมือนไม่ปะติดปะต่อนี้ กลับเติมเต็มหัวใจของเด็ก ๆ ด้วยความอิ่มเอม ส่วนภาพ สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีเรียบง่าย โดยใช้ดินสอสีเป็นลายเส้นปากกาผสมผสานกับสีน้ำ สร้างบรรยากาศให้พ่อแม่ และลูกรู้สึกราวกับตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ชิดตัวละคร

ปลา ก็คือ ปลา (Fish is Fish)
เป็นเรื่องที่นำเสนอถึงปลากับกบ ถึงแม้จะเกิด และโตในบึงเหมือนกัน แต่เมื่อโตเต็มที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก และในน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ผู้แต่งได้นำมาเติมสีสันแห่งจินตนาการ และความสนุกสนานเข้าไป โดยการสร้างสรรค์ภาพเป็นโลกในบึงน้ำที่จะทำให้พ่อแม่ และเจ้าหนูรู้สึกได้ถึงความเย็นใสสบายตา ใช้เส้นโค้ง อ่อนพลิ้วของบรรดาไม้น้ำ แสดงถึงความเคลื่อนไหวของกระแสน้ำในบึง ภาพนก วัว และคนในความคิดคำนึงของปลาก็โดดเด่น สะดุดตา กระตุ้นจินตนาการของเด็กๆ ได้อย่างสนุกสนาน

วันแสนสุข (The Happy Day)
เรื่องนี้ เด็ก ๆ จะสนุก และมีความสุขกับสัตว์น้อยใหญ่ เช่น หมีใหญ่ กระรอก หอยทาก ตัวอ้น ที่ต่างลืมตาตื่นขึ้นจากหิมะ ทีละตัว ทีละชนิด แล้วพากันวิ่ง วิ่ง วิ่งเป็นขบวนเพื่อไปดูสิ่งพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางหิมะขาวโพลน ส่วนภาพประกอบจะใช้เพียงสีขาวดำสื่อถึงความหนาวเย็นของหิมะ พร้อมกับวาดตัวละครแต่ละตัว แต่ละชนิดให้แสดงอากัปกิริยาหลับอย่างมีความสุข ตื่นและเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นมีชีวิตชีวา ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ให้อยากรู้และติดตามว่าจะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในหน้าถัดไป ต่อเนื่องไปจนถึงตอนจบ

ในป่าใหญ่ (Anno’s Strange Woods)
เป็นนิทานเล่าเรื่องป่าที่มีสัตว์ต่าง ๆ พรางกายอยู่อย่างชาญฉลาด ข้ามขอบเขตการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรสู่การเปิดโอกาสให้ผู้อ่านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ค้นหาเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพ ด้วยการดู สังเกต และการเพ่งมอง ประกอบกับการคิดเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมเพื่อนำไปสู่การค้นพบเรื่องราว สิ่งที่มีอยู่จริง และสรรพสิ่งในจินตนาการที่ให้ความรู้สึกสนุก น่าค้นหาไม่รู้จบ ประหนึ่งได้เข้าไปผจญภัยในป่าใหญ่จริง ๆ



ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์