วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ลูกถนัดซ้าย ส่งผลอะไรกับการเรียนรู้

PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย มนต์ชยา   
คำถาม: ลูกถนัดเขียนมือซ้าย หากเราพยายามบังคับให้เขาเขียนมือขวา จะมีผลเสียไหม มีผลอะไรกับการเรียนรู้หรือเปล่า หรือความปล่อยให้เป็นไปตามความถนัดของเด็กดี เพราะลูกไม่ค่อยชอบเวลาบังคับให้เขียนมือขวา นันทนีย์/ชลบุรี

เด็ก 3 ขวบในชั้นอนุบาลของครูหมู ระยะแรกที่เด็กเปิดเทอมได้ทำกิจกรรมอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวกับการใช้มือ เช่น กิจกรรมวาดภาพ ครูหมูสังเกตว่าลูกศิษย์ตัวน้อยคนหนึ่ง คือน้องเอมจับสีเทียน จับพู่กันด้วยมือซ้ายขณะที่วาดภาพ แม้กระทั่งเวลากินข้าว น้องเอมก็ยังคงใช้มือซ้ายกับช้อนตักอาหารกิน ครูหมูได้คุยกับคุณแม่น้องเอม คุณแม่บอกว่าไม่ได้สังเกตอย่างจริงจังว่าก่อนที่น้องเอมจะเข้าเรียน น้องเอมใช้มือซ้ายจับสิ่งของต่างๆ มากกว่าใช้มือขวาหรือไม่ ครูหมูและคุณแม่ปรึกษากันและตกลงว่าควรรอไปอีกสักหน่อย เดี๋ยวน้องเอมก็จะค้นพบเองว่า ควรใช้มือไหนจับดินสอ ช้อน ฯลฯ
มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อพบว่าลูกถนัดซ้าย จะเริ่มวิตกกังวลว่าลูกจะมีชีวิตผิดปกติเมื่อต้องอยู่ในสังคม กลัวไปไกลจนถึงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการประกอบอาชีพของลูกในอนาคต การถนัดมือซ้าย ถ้ามีการช่วยปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กถนัดมือขวานั้น เราต้องไม่คาดหวังว่าจะต้องทำสำเร็จ เพราะว่าการถนัดซ้ายของเด็กบางคน เกิดจากกลไกทางสมองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็มีเด็กบางคนถนัดซ้ายโดยไม่ได้เกิดมาจากกลไกทางสมอง แต่เกิดจากความคุ้นเคยกับการใช้มือซ้ายบ่อยกว่ามือขวา เช่น เวลาที่ผู้ใหญ่ส่งของให้ เด็กก็มักรับด้วยมือซ้าย ก็จะเกิดความเคยชินค่ะ
ด้านคุณพ่อคุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่า ควรเปลี่ยนแปลงการถนัดมือซ้ายของลูก ต้องเริ่มจากการสังเกต เพราะถ้าลูกยังเล็กไม่เกินชั้นป.1 เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ
ส่งของให้ลูกด้วยมือซ้ายของเรา ลูกจะยื่นมือขวามารับ
บอกลูกด้วยคำพูดที่นุ่มนวลให้ลูกเปลี่ยนมาใช้มือขวา เช่น แม่ว่าลูกวาดภาพด้วยมือนี้ (มือขวา) ได้สวยดีทีเดียว ลูกลองเขียน/วาดด้วยมือนี้มั่งดีมั้ย
อย่าใช้วิธีขู่ บังคับ ลงโทษเฝ้าจับผิดเวลาใช้มือซ้าย เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกต่อต้าน รำคาญ และไม่ปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่บอก
อาจจะมีการวางเงื่อนไข เช่น ถ้าลูกเปลี่ยนจากการใช้มือซ้ายมาเป็นใช้มือขวา คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชย หรือให้รางวัลด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อลูกเริ่มค้นเคยกับการใช้มือขวาแล้วก็ค่อยๆ ลดเงื่อนไขลง
ถ้าเราพบว่าเด็กรู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ หรือมีอาการอย่างอื่นอีก เช่น กัดเล็บ เครียด ต่อต้านด้วยคำพูดหรือกิริยา เด็กบางคนหากถูกบังคับมากๆ อาจจะพูดติดอ่างก็มี เราควรหยุดแล้วปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ การที่เด็กถนัดมือซ้ายไม่ใช่เรื่องทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันหรอกค่ะ เด็กส่วนมากที่ถนัดซ้าย จะมีความสามารถด้านการใช้ภาษา ความสามารถทางดนตรี การวาดภาพมีจินตนาการ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ดีค่ะ
คุณครูรุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี โรงเรียนอนุบาลสามเสน
[ ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 96 ตุลาคม 2546 ]

12 จุดในบ้านที่ควรระวังอันตรายสำหรับเด็กเล็ก

PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย กัมพล   
บ้านคือวิมานของเรา แต่บางครั้ง บางสถานการณ์บ้านกลายเป็นสถานที่อันตรายสำหรับเด็กๆ ได้เช่นกัน เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือประมาทเลินเล่อ

ในแต่ละปีเด็กไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายในบ้านด้วยสาเหตุสำคัญอันดับแรก คือ โครงสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น บันได ระเบียง พื้น ประตู หน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
นอกจากการจัดวางข้าวของเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญของการตายและบาดเจ็บของเด็ก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการตายด้วยอุบัติเหตุในเด็กนั้น มาจากสาเหตุการจมน้ำตาย ซึ่งเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ อ่างน้ำ และแหล่งน้ำใกล้บ้าน เช่น ร่องน้ำ คูน้ำ บ่อน้ำ เป็นต้น

12 จุดที่ควรระวังอันตรายสำหรับเด็กเล็ก

  1. เก้าอี้ โซฟา
    เด็กแรกเกิดเคลื่อนที่ได้จากการถีบขาดันสิ่งขวางกั้นต่างๆ ส่วนเด็กวัย 4-6 เดือนเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายได้ เป็นเหตุให้เกิดการพลัดตกจากเตียง เก้าอี้ หรือโซฟา หากจำเป็นต้องวางเด็กบนที่สูงเพื่อหยิบผ้าอ้อม หรือเตรียมนม ต้องวางมือข้างหนึ่งบนตัวเด็กไว้เสมอ
  2. เตียงเด็ก หรือเปล
    ซึ่เปลที่มีความห่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายจากดิ้นของเด็กจนศีรษะเข้าไปติดค้างได้ บางครั้งอาจติดค้างระหว่างริมเบาะที่นอนกับผนังเปล หรือเบาะที่นอนด้านที่ชิดกำแพงได้ มุมเสาทั้ง 4 ด้านของเปลที่ยกสูงขึ้นมา อาจเกี่ยวรั้งเสื้อผ้าของด็ก และเกิดการแขวนรัดคอ จึงควรเลือกประเภทของเปลและจัดวางเบาะที่นอนให้เหมาะสมสำหรับเด็ก
  3. ความร้อน
    เด็กทารกอายุ 3-5 เดือน จะเริ่มคว้าสิ่งของและกำมือได้ เด็กอาจปัดหรือคว้าของร้อนเหล่านั้น เด็กในวัยเดิน หรือวิ่งได้อาจเอื้อมคว้าสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความร้อนและถูกความร้อนลวกได้ สิ่งที่พึงระวัง คืออย่าอุ้มเด็กขณะที่ถือของร้อน อย่าอุ้มเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป นั่งบนตักขณะมีของร้อนอยู่บนโต๊ะ เก็บสายไฟของกาน้ำร้อน อย่าให้ห้อยอยู่ต่ำในระดับที่เด็กสามารถดึงกระชากให้ล้ม
  4. หน้าต่าง
    เด็กวัยเกาะยืนขึ้นไป อาจปีนป่ายเฟอร์นิเจอร์ที่วางชิดหน้าต่าง และอาจพลัดตกลงไปได้ ควรปิดหน้าต่างหรือมุ้งลวดให้สนิท ไม่วางเฟอร์นิเจอร์ในตำแหน่งที่ชิดกับหน้าต่าง
  5. บันได
    เด็กวัย 6-12 เดือน จะเริ่มเคลื่อนที่ได้ดีและเร็วขึ้นจากการกลิ้ง คืบคลาน เกาะเดิน และเดินได้เอง เมื่อเด็กเดินหรือวิ่งได้แล้วก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการตกบันได หกล้ม ชนกระแทก จึงควรตรวจสอบราวบันไดและระเบียงไม้ให้มีช่องห่างพอที่เด็กจะลอดได้
  6. สัตว์เลี้ยงในบ้าน
    เด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป มักสนใจสัตว์เลี้ยงต่างๆ ในบ้าน อาจถูกเลีย กัด ข่วน จากการจับ ดึง หรือแหย่สัตว์ได้ ไม่ควรปล่อยให้เด็กทารกอยู่ตามลำพังกับสัตว์เลี้ยง สอนเด็กไม่ให้รังแกสัตว์ เช่น ดึงหู ดึงหาง แย่งจานอาหาร ของเล่นสัตว์ และควรฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง
  7. ประตูห้อง
    จัดว่าเป็นจุดอันตรายสำหรับเด็กวัยหัดคลาน หัดเดิน อาจถูกประตูหนีบมือได้ จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันประตูหนีบมือ
  8. ห้องน้ำและภาชนะใส่น้ำ
    เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 10 ปี มักเกิดจากการเผลอชั่วขณะ หรือความประมาทของผู้เลี้ยงดู ห้ามให้เด็กนั่งเล่นน้ำตามลำพังในอ่างน้ำ ระดับน้ำสูงเพียง 5 ซม. ก็อาจจมน้ำได้ จึงควรกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านและละแวกบ้าน หรือกั้นรั้ว กั้นประตู ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำได้ เช่น การเทน้ำในถังทิ้งไป การปิดฝาถังน้ำ การปิดประตูห้องน้ำ ปิดประตูหน้าบ้านหลังบ้านเพื่อไม่ให้เด็กคลานออกไปได้
  9. ตู้ ชั้นวางของ โต๊ะวางทีวี
    เด็กวัย 1 - 2 ปี มีความสามารถในการปีนป่าย ยืนบนเก้าอี้เพื่อหยิบของบนที่สูงได้ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นสารพิษ โต๊ะวางสิ่งของเหล่านี้จึงควรวางบนพื้นราบ มั่นคง ไม่ล้มง่าย หรือควรยึดโต๊ะด้วยสายยึดกับกำแพง เฟอร์นิเจอร์ต้องไม่มีมุมคม หากมีควรใส่อุปกรณ์กันกระแทกที่มุมของทุกมุม
  10. ประตู รั้วบ้าน ต้องมั่นคงไม่หลุดจากรางมาล้มทับเด็ก
  11. ห้องครัว
    ควรมีประตูกั้นเพื่อมิให้เด็กเข้าไปในบริเวณนั้นได้ อย่าวางของร้อนบนพื้นและของมีคมในที่เด็กเอื้อมมือถึง
  12. ปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า
    ควรปิดที่ีเสียบปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้ด้วยพลาสติคสำหรับปิด หรือติดตั้งกล่องครอบปลั๊กไฟ ต่อสายดินกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องซักผ้า และต่อเครื่องมือตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ