วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เด็กน่ารัก หนูน้อยลีลาสเก็ต โฆษณา

แม่จ๋า...หนูถ่ายไม่ออก

ปัญหาท้องผูกในเด็กนั้นมีหลายระดับครับ ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงรุนแรง เช่นร้องเจ็บเวลาอุจจาระ จนถึงเป็นแผลปริแตกที่ทวารหนัก มีเลือดมาเป็นสายๆ หรือเคลือบก้อนอุจจาระออกมา
• อย่างไรถึงเรียกว่าท้องผูก
เกณฑ์ที่ใช้โดยทั่วไปคือถ่ายอุจจาระแข็งทุก 3 วัน แต่ปัญหานี้อาจเริ่มตั้งแต่ลูกวัยทารกอายุ 1-2 เดือนซึ่งคุณแม่มือใหม่มักกังวลก็คือลูกน้อยไม่ยอมถ่ายเพียง 1-2 วันก็ไม่ค่อยสบายใจแล้ว บางคนสวนอุจจาระให้ลูก ซึ่งปกติแล้วไม่แนะนำให้ทำครับ ถ้าจะทำควรมีข้อบ่งชี้ และทำโดยแพทย์ เพราะการสวนอุจจาระเด็กจะเป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้ และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แท้ที่จริงแล้ว สำหรับเด็กทารกบางคน ถ้าถ่ายอุจจาระไม่แข็ง 4 วันถ่ายครั้ง ก็อาจถือว่ายังปกติอยู่ครับ บางครั้งเกิดกับเด็กทารกที่กินนมแม่ก็ได้ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว นมแม่ย่อยง่าย เด็กทารกที่กินนมแม่จะถ่ายค่อนข้างบ่อย เช่นวันละ 3-5 ครั้ง อุจจาระอาจเหลวบ้าง เป็นเม็ดเล็กๆ ปนน้ำบ้าง แต่อย่างไรก็ตามมีทารกที่กินนมแม่บางคน 3-4 วันจึงจะถ่ายครั้งก็มีให้เห็นบ้าง
ดังนั้นถ้าลูกซึ่งอายุ 1-2 เดือน ท้องผูก อาจลองทำตามขั้นตอนนี้
- ลองเปลี่ยนยี่ห้อของนมผสมดู เนื่องจากเด็กบางคน พอเปลี่ยนสูตรนมเป็นของบางบริษัท อาจถ่ายอุจจาระดีขึ้น ไม่แข็ง
- เพิ่มน้ำส้มคั้น หรือน้ำลูกพรุน เพื่อช่วยระบาย เอาแต่น้ำนะครับ ไม่เอาเนื้อ เพราะกรณีนี้ยังเป็นเด็กทารกอายุเพียง 1-2 เดือน
- ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะได้ช่วยหาสาเหตุ และอาจพิจารณาให้ยาระบายอ่อนๆ เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น
ฝึกลูกรักให้รู้จักขับถ่าย
เรื่องฝึกการขับถ่ายให้ลูก ( Toilet training ) นั้นเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กแล้วยังมีความสำคัญในเรื่องของการเลี้ยงดู และเป็นพื้นฐานของการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วยครับ
ถ้าพ่อแม่ละเลยที่จะฝึกการขับถ่ายให้ลูกจะเกิดปัญหาที่แก้ไขยากครับ เด็กกลุ่มนี้ทั้งๆ ที่โตแล้ว ( เช่น 3-4 ขวบ ) แต่จะไม่บอกพ่อแม่ว่าปวดอุจจาระ ปัสสาวะ บางคนยังอุจจาระ ปัสสาวะราด เลอะเทอะ หรือเวลาถ่ายยังไม่ยอมนั่งกระโถนหรือโถส้วม อาจยืนถ่ายอุจจาระ ถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เช่น ถ่ายในห้องนอน บางคนก็ยังถ่ายในผ้าอ้อมเด็กหรือแพมเพอร์สเหมือนเด็กเล็ก ๆ
จะเริ่มฝึกการขับถ่ายให้ลูกเมื่อไรดี
โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มมีความพร้อมในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งถึง2 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กเดินวิ่งได้คล่องพอดีครับ  ปกติแล้วความสามารถในการควบคุมการถ่ายอุจจาระจะมาเร็วกว่าการถ่ายปัสสาวะเล็กน้อย
คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตว่าลูกน้อยมีความพร้อมที่จะฝึกการขับถ่ายได้หรือยัง โดยจะดูได้จากสัญญาณความพร้อมดังต่อไปนี้ครับ
- ลูกเริ่มเดินได้คล่อง
- สามารถนั่งบนกระโถน โดยทรงตัวอยู่ได้
- พอจะกลั้นปัสสาวะได้นาน 2-3 ชั่วโมง
- มีพัฒนาการทางภาษาเพียงพอที่จะเริ่มทำตามที่พ่อแม่สั่ง และสามารถใช้ภาษาง่ายๆ ที่จะสื่อสารให้พ่อแม่รู้ได้  ซึ่งโดยทั่วไปก็คือเด็กอายุประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี นั่นเองครับ
ฝึกลูกอย่างไร
สำหรับขั้นตอนในการฝึกให้ลูกนั่งกระโถนมีดังนี้ครับ
-ฝึกให้ลูกใช้คำพูดง่าย ๆ เช่น " ฉี่ " " อึ" บางทีเด็กบางคนอาจยังพูดไม่ได้ก็ใช้ภาษากายแทนได้นะครับ เช่นเด็กบางคนอาจเอามือจับที่ท้องน้อยแล้วมองหน้าพ่อแม่ นี่ก็เป็นการสื่อสารประเภทหนึ่งว่าปวดฉี่แล้ว
- ส่งเสริมให้ลูกบอกพ่อแม่เมื่อปวดอุจจาระ ปัสสาวะ
- เลือกกระโถนที่นั่งสบาย วางไว้ในที่ซึ่งหยิบหรือใช้ได้สะดวก
- เมื่อลูกสามารถบอกอุจจาระ ปัสสาวะได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบชมทันทีครับ บางทีอาจให้รางวัลด้วย ถ้ายังทำไม่ได้ก็ไม่ควรดุว่าหรือลงโทษครับ
วงจรของท้องผูก
ในเด็กอายุเกิน 1 ขวบที่กินนมมากเกินไป เช่นกินนมขวด 8 ออนซ์ 5-6 ขวดต่อวัน ไม่ค่อยกินข้าว นอกจากจะมีปัญหาการปฏิเสธอาหาร อมข้าว คายข้าว ดังที่เราได้คุยกันในบทก่อนหน้านี้ไปแล้ว ยังเกิดปัญหาท้องผูกร่วมด้วยบ่อยๆ สาเหตุก็เพราะนมเป็นอาหารที่แทบจะไม่มีเส้นใยอาหาร (Fiber) เลย  เมื่อกินนมมาก เส้นใยอาหารที่จะได้จากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักผลไม้ ก็ยิ่งน้อยลงไปด้วย ทำให้เด็กกลุ่มนี้ มักจะถ่ายอุจจาระเป็นลูกกระสุน แข็งๆ หรือก้อนใหญ่ๆ เวลาถ่ายจึงรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก รูทวารปริแตก บางคนมีเลือดปนออกมากับก้อนอุจจาระ                      
นอกจากนี้มักพบร่วมกับการที่เด็กไม่ได้รับการฝึกการขับถ่ายอุจจาระ เช่นไม่ยอมนั่งกระโถน ถ่ายในผ้าอ้อมสำเร็จรูป ยืนถ่ายอุจจาระ ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กอั้นอุจจาระไว้ ไม่ยอมถ่าย ยิ่งอั้นไว้ ก้อนอุจจาระในลำไส้ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น ถ่ายยากขึ้น เวลาถ่ายก็ยิ่งร้องเจ็บมากขึ้น ข้อแนะนำทั่วไปก็คือการลดปริมาณนมลง และเพิ่มปริมาณอาหารที่มีเส้นใยเช่นผัก และผลไม้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงวัยก่อนอนุบาลควรจะเริ่มฝึกให้ลูกขับถ่ายอุจจาระทุกวันตามเวลาด้วยครับ
มาฝึกสุขลักษณะที่ดีในการถ่ายกันเถอะ
ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยอนุบาล เด็กโต รวมไปถึงผู้ใหญ่ ก็ควรจะฝึกสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการถ่ายอุจจาระอยู่แล้วครับ คือถ่ายอุจจาระทุกวัน ตามเวลา ตรงช่วงเวลา เช่นทุกเช้า หรือทุกเย็น ไม่ใช่รอให้ปวดอุจจาระก่อนแล้วค่อยไปถ่าย คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกลูกเป็นขั้นตอนดังนี้ ฝึกให้ลูกนั่งกระโถนตามเวลา โดยขั้นแรกให้นั่งเฉยๆ ยังไม่ต้องถ่าย ก็จะให้รางวัล ให้คำชม หรือให้ขนมที่ชอบ อีก1-2 สัปดาห์ ก็เพิ่มเกณฑ์ขึ้น เป็นนั่งแล้วถ่ายด้วย มีคุณแม่คนหนึ่ง สร้างแรงจูงใจด้วยตุ๊กตาเซรามิคตัว เล็กๆ ถ้าลูกยอมนั่งถ่ายตามเวลา จะให้ตุ๊กตา ได้ผลดีมากครับ เด็กเริ่มถ่ายตามเวลาได้ ถ้าได้พยายามแล้ว แต่เด็กหลายคน (รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย) อาจจะยังถ่ายไม่เป็นเวลาบ้าง ก็ไม่เป็นไรครับ แต่อย่างไรก็ตามการลองฝึกสุขลักษณะที่ดีในการขับถ่ายให้ลูก ไม่มีอะไรเสียหายเลยครับ ลองทำดูได้
ในกรณีที่ท้องผูกรุนแรง หรืออุจจาระเล็ด เปื้อนกางเกง  ควรปรึกษาแพทย์เสมอนะครับ ไม่ควรสวนอุจจาระ หรือหาซื้อยาระบายมากินเอง  เพราะปัญหามักซับซ้อน และอาจมีความผิดปกติเช่นโรคของลำไส้ มีการอั้นอุจจาระ รวมถึงบางคนอาจมีปัญหาจิตใจซ่อนอยู่ แพทย์อาจต้องตรวจ ประเมิน พิจารณาให้ยาระบายตามความเหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแนะนำการฝึกการขับถ่ายต่อไป

เด็กที่อั้นอุจจาระไว้ ไม่ยอมถ่าย ยิ่งอั้นไว้ ก้อนอุจจาระในลำไส้ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น ถ่ายยากขึ้น เวลาถ่ายก็ยิ่งร้องเจ็บมากขึ้น

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

เล่นคนเดียว สร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ


นับเป็นอีกหนึ่งทักษะชั้นสูงในการฝึกเด็กค่ะ ถึงแม้หลายๆ งานวิจัยจะให้ความสำคัญของการเล่น โดยของเล่นที่วิเศษสุดของเขาก็คือพ่อแม่นั่นเอง แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็ก ต่างก็มีความเห็นว่า เด็กเองก็ควรที่จะมีเวลาเป็นของตนเอง ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ลองทำอะไรเอง แม้ว่าจะผิดจะถูก และหัดการพึ่งตนเอง ฝึกสมาธิ ได้ทำอะไรตามที่ตนเองต้องการทำ โดยไม่มีใครมากวนหรือชี้นำ
ประโยชน์ของการเล่นคนเดียว
ที่สำคัญคือ การที่เด็กได้มีโอกาสทำอะไรเอง และฝึกที่จะเล่นคนเดียวบ้าง ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองดีขึ้น และมีความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem)   
ในขั้นตอนการพัฒนาการของเด็กปกตินั้น เด็กจะเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีตัวตน และแตกต่างจากพ่อและแม่ ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือน การให้เด็กเล่นคนเดียว เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักตนเอง และเป็นเพื่อนของตนเองได้ เด็กจะไม่รู้สึกเหงา หรือกลัว เมื่อต้องอยู่คนเดียว ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้น และเริ่มออกไปสู่โลกภายนอก เขาจะสามารถหาเพื่อนใหม่ได้เสมอ เพราะเขาชอบที่จะมีเพื่อน ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเหงา ไม่อยากอยู่คนเดียว
เทคนิคง่ายๆ สอนหนูเล่นคนเดียว
การฝึกลูกน้อยให้เล่นคนเดียว นอกจากจะฝึกให้เด็กรู้จักสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองแล้ว ถือเป็นการพัฒนาทักษะสำคัญอีกด้านที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่เด็กจะเฉลียว ฉลาด เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และรู้จักพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยเทคนิคดังต่อไปนี้ค่ะ
  1. เติมกล่องของเล่นด้วยอุปกรณ์ที่สนับสนุนการเล่นสนุกตามลำพัง เช่น ของเล่นเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง การแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์หรือการสมมุติเหตุการณ์ จิ๊กซอว์ ตัวต่อ สีเทียนกับกระดาษ หนังสือภาพ ตุ๊กตา เครื่องครัวเด็กเล่น ล้วนเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมทั้งสิ้นค่ะ สลับสับเปลี่ยนกล่อง หรือเติมของเล่นใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเขาอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจ
  2. ไม่ควรปล่อยปละให้ทีวีเลี้ยงลูกเด็ดขาด เพราะเป็นสื่อสารเพียงด้านเดียว (One - way communication) ควรปิดซะ แล้วพาเด็กไปยังห้องที่เงียบ เปิดกล่องที่เต็มไปด้วยของเล่นแปลกใหม่และเริ่มกระตุ้นให้เขาหยิบมาเล่น ในช่วงแรก คุณแม่ควรเล่นเป็นเพื่อนลูกอย่างใกล้ชิด
  3. หลังจากผ่านไป 2 - 3 ให้ค่อยๆ ลดการมีส่วนร่วมของคุณแม่ลง รวมทั้งเล่นสนุกและพูดคุยกับลูกให้น้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นเฝ้ามองเขาเล่นแทน
  4. ถอยห่างออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมานั่งอ่านหนังสือบนเก้าอี้ แรกทีเดียวหนูน้อยของเราอาจประท้วง แต่แรงต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงทีละน้อย เมื่อเขาเริ่มสะดวกใจกับการเล่นคนเดียวมากขึ้น เงยหน้ามองเป็นระยะเพื่อกล่าวชม หรือเดินไปหาเขาเพื่อแสดงท่าทางสนับสนุนค่ะ
  5. เริ่มขอตัวออกจากห้องเป็นระยะเวลาสั้นๆ ขณะหนูน้อยกำลังสนุกกับของเล่นอย่างเต็มที่ โดยคุณอาจอ้างว่า “ขอแม่ไปทำธุระก่อนนะ” หรือ “เดี๋ยวแม่กลับมา” จากนั้นค่อยแวะกลับมาหลังจากเวลาผ่านไปสองสามวินาทีเพื่อกล่าวชมเขาที่สามารถเล่นคนเดียวได้อย่างสงบ ค่อยเพิ่มช่วงเวลาในการออกจากห้องให้นานขึ้น แต่ควรแวะกลับมาทุกครั้งเพื่อให้การสนับสนุน เสริมแรงโดยการกล่าวชมเชย ไม่นานคุณแม่ก็สามารถเดินออกจากห้องและกลับเข้ามาในห้องโดยที่เด็กไม่ทันสังเกตได้ในที่สุดค่ะ

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ไว้คือ ขั้นตอนพัฒนาการของเด็กในแต่ละอายุด้วย เพราะเด็กที่อายุมากขึ้น จะสามารถเล่นเองคนเดียวได้นานมากขึ้น เช่น เด็กอายุ 6 เดือน จะสามารถอยู่คนเดียว ได้ประมาณ 5 นาที เด็กอายุ 1 ขวบ จะเล่นคนเดียวได้ประมาณ 15 นาที พออายุขวบครึ่งจะเพิ่มขึ้นอยู่คนเดียวได้ประมาณ 15 ถึง 20 นาที ขณะที่อายุ 2 ขวบขึ้นไป จะได้ประมาณครึ่งชั่วโมง

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด
คงไม่มีอะไรที่จะประทับใจ คุณพ่อคุณแม่ เท่ากับการได้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูก ยิ่งเห็นลูกมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมทางสังคมไปเรื่อยๆ ก็คงอดภูมิใจและลุ้นไปด้วยไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ แต่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัยนั้น การเอาใจใส่ที่สอดคล้องกันในทุกๆ ด้าน ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
ร่างกายแข็งแรงที่ซู้ด..ต้องนมแม่เท่านั้น
เป็นวัยที่ลูกน้อยยังต้องหม่ำนมเป็นหลัก ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องให้ดื่มนมแม่จากเต้าค่ะ ทั้งสดและใหม่ คุณค่าครบครัน แถมขณะที่เบบี๋กำลังดูดนม ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (Oxytocin)ในร่างกายของแม่ก็จะเพิ่มระดับขึ้น ทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดี และมีความสุขไปด้วย ซึ่งตามหลักแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกด้วยตนเองได้ถึง 6 เดือน
โดยธาตุอาหารที่อยู่ในน้ำนมนั้นจะให้โปรตีน รวมถึงแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียมเป็นสิ่งสำคัญมาก การดื่มน้ำอุ่นวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว ก็ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอด้วยค่ะ และเมื่อหนูน้อยมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ควรงดให้นมในมื้อดึก เพราะวัยนี้สามารถนอนติดต่อได้นานเวลากลางคืน
เสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวด้วย “ของเล่นชิ้นโปรด”
พอเข้าเดือนที่ 4 หนูน้อยก็พลิกตัวได้สำเร็จครั้งแรก และนั่งได้โดยมีที่พิงด้านหลัง คุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการลูกน้อย ด้วยการจับมือดึงให้ลุกขึ้นนั่งบ่อยๆ จะช่วยบริหารหลังและคอของลูกให้แข็งแรงค่ะ พอถึงเดือนที่ 5 ก็สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้แต่ยังไม่ดีนัก และชื่นชอบคว้าของทุกอย่างเข้าปาก คุณแม่ควรเล่นกับลูกด้วยของเล่นสีสันหลากหลาย เพื่อหลอกล่อให้เขาพลิกคว่ำพลิกหงาย
อาจฝึกกระตุ้นการใช้มือ โดยเตรียมของเล่นพวกลูกบอลบล็อก ของเล่นที่บีบและมีเสียง ยางกัด จนอายุหนูได้ 6 เดือน ลูกก็จะเริ่มคืบไปข้างหน้า และใส่เกียร์ถอยหลังได้บ้าง บางครั้งก็พยายามที่จะลุกขึ้นมานั่งแต่ไม่มั่นคงเท่าไหร่ค่ะ ดังนั้น ควรจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของลูก ไม่วางสิ่งของเกะกะ จนเป็นอันตรายต่อลูก
ภาษาพูดกับลูกน้อยที่แม่ควรรู้ไว้
ลูกน้อยในวัย 4 – 6 เดือนนี้ จะเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นค่ะ สามารถหันมองตามเสียงเรียกของคุณพ่อคุณแม่ได้ ชอบฟังเพลง ส่งเสียงพูดคุยอ้อแอ้ และเข้าใจภาษาจากคนรอบข้างมากขึ้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริม ด้วยการพูดคุยกับลูกโดยใช้ภาษาสั้นๆ ง่ายๆ และน้ำเสียงหนักเบาที่น่าดึงดูด โดยขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ไปด้วยก็ได้ เช่น เล่นโยกเยกกับลูก พูดคุยเรียกชื่อทุกครั้งให้เกิดความคุ้นเคย เวลาเล่นของเล่นก็อาจตั้งชื่อให้ด้วย เป็นต้น เป็นการเสริมพัฒนาด้านภาษาของลูกด้วยคำศัพท์ต่างๆ ที่น่าสนใจรอบตัวเขา
เริ่มต้นสอนทักษะการเข้าสังคม
เมื่ออายุย่างเข้า 5 เดือน เขาก็จะเริ่มจับเริ่มสำรวจใบหน้าพ่อแม่ พอเข้าเดือนที่ 6 จะเริ่มจดจำชื่อและคนแปลกหน้าได้ ดังนั้นจะติดคุณแม่เป็นพิเศษ และกลัวคนแปลกหน้า (Stranger anxiety) ไม่ยอมให้อุ้มหรือเข้าใกล้เด็ดขาด ดังนั้น คุณแม่ควรพาลูกออกไปเจอบุคคลอื่นที่ไม่คุ้นเคยบ้างก็ดีค่ะ เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เช่น พาไปจ่ายตลาด เดินเล่นสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวตามบ้านญาติต่างๆ

การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นอกจากส่งเสริมภาวะโภชนาการให้เจริญเติบโตตามวัย และการส่งเสริมการเล่นเพื่อพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้อีกแนวทางหนึ่ง คือ การเล่านิทาน การร้องเพลงกล่อมเด็ก มีผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า การพูดคุย และการร้องเพลงกล่อมเด็กบ่อยๆ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำใหม่ได้เร็ว และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการสมองที่สำคัญ ทำให้เด็กมีความจำและฉลาดขึ้น