วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

Language Exercises for baby

ช่วงขวบปีแรกของลูก อย่าละเลยพัฒนาการด้านภาษาของลูก

 3 ขวบแรกของชีวิต ถือเป็นช่วงทองของพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กค่ะ รวมทั้งพัฒนาการด้านทักษะภาษาและการพูดด้วย ซึ่งหาคุณพ่อคุณแม่ละเลยในการส่งเสริม อาจส่งผลให้พื้นฐานด้านภาษา การพูด และการเรียนรู้ของลูกไม่ดีในอนาคตได้


ภาษาของวัยขวบแรก
ลูกวัยขวบแรกมีพัฒนาการทางภาษา 2 ด้าน คือ

การรับรู้และเข้าใจภาษา หมายถึงความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ และจำความหมายของคำได้ ความเข้าใจภาษาหรือคำศัพท์เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของลูก ซึ่งเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส แม้ว่าช่วงแรกเกิดลูกจะยังพูดไม่ได้ แต่การได้ยินหรือฟังเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จะช่วยให้ลูกรู้จักการฟัง แยกเสียงรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงมีความแตกต่างกัน โดยลูกจะเลือกรับฟังเสียงที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับตัวเองได้ก่อน เช่น เสียงแม่พูด เป็นต้น

จากนั้นจึงรู้จักเชื่อมโยงเสียงที่ได้ยินกับสิ่งที่ลูกมองเห็น คือตัวบุคคล สิ่งของ หรือกิริยาอาการต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและรู้ความหมายของคำพูด และพัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เพิ่มขึ้นตามวัยค่ะ
การแสดงออกทางภาษา หมายถึงความสามารถในการพูด การแสดงท่าทางเพื่อใช้สื่อความหมาย ซึ่งได้จากการสะสมประสบการณ์และการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมทางตรงและทางอ้อม โดยพัฒนาขึ้นจากการเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เชื่อมโยงกับความเข้าใจในคำที่รู้จักซ้ำๆ ลูกจึงจะเกิดความจำและพูดอย่างถูกความหมายได้ในอนาคต


How to exercises
การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกวัยขวบแรกสามารถทำได้ดังนี้

คุยด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ควรเป็นประโยคยาวๆ เพราะลูกวัยนี้ไม่สามารถจับใจความได้ในภาพใหญ่ สอนย้ำๆ บ่อยๆ แม้ลูกวัยขวบแรกจะพูดไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจและจดจำได้ ดังนั้นหากอยากจะสอนคำศัพท์ให้ลูก ควรสอนด้วยคำสั้นๆ ย้ำๆ และควรสอนบ่อยๆ อาจชวนคุยเล่น หรือเป็นคำถามและคำตอบ เช่น นี่สีอะไร...แล้วก็ตอบสีแดง สีส้ม ซึ่งจะทำให้ลูกรู้จักทั้งคำถามและคำตอบ

นวดปาก พัฒนาการด้านภาษาจะต้องอาศัยการเลียนแบบ แต่หากลูกไม่ค่อยยอมออกเสียงคุณพ่อคุณแม่อาจต้องนวดปาก โดยการใช้มือถูเป็นวงรอบๆ ปาก จะสอนให้รู้จักอะไรก็ยกสิ่งนั้นไว้ใกล้ๆ ปาก เพื่อดึงดูดให้ลูกสนใจ และเรียนรู้ว่าเสียงทีได้ยินนั้นคือสิ่งนี้
แต่ถ้าลูกยังทำไม่ได้อาจต้องเริ่มจากออกเสียงสระกับพยัญชนะก่อน เพราะการออกเสียงตรงๆ จะง่ายกว่าคำที่ออกเสียงเป็นคำ เมื่อลูกเริ่มออกเสียงได้ค่อยสอนให้เขางุ้มปากออกมาเป็นคำ เช่น มะ มะ หม่ำ เป็นต้น

ชวนลูกขยับปาก ด้วยการคุยกับลูกและให้ลูกขยับปากมากๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อาจอ้าปากกว้างๆ แล้วบอกให้ลูกลองทำตาม อาจจะออกเสียงอ้า... พร้อมๆ กับการอ้าปากไปพร้อมๆ กัน หรืออาจจะออกเสียงอา...ใส่กล่อง ให้มีการสะท้อนกลับมาเพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกและรู้สึกอยากทำตาม หรือทำปากจู๋ แลบลิ้นแตะซ้ายแตะขวา เล่นทำเสียงบาๆ เป็นต้น หรือออกเสียงต่างๆ กัน เช่น อู อุ๊ อู๋ ให้มีเสียงขึ้นลง หรืออาจจะจับมือลูกให้มารู้จักปาก โดยการเอามือเขามาจับปากพร้อมกับบอกว่า อ้าปาก และพยายามสอนคำศัพท์ต่างๆ ด้วยคำสั้นๆ อาจเอารูปมาชี้ให้ดู หรือเวลาเห็นอะไรก็ชี้แล้วบอก เช่น หมา ตัวนี้เรียกว่า หมา เป็นต้น

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกให้มากๆ อาจหาของเล่นมานั่งเล่นกับลูก พร้อมพูดคุย ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว หรือดู TV ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ลูกมีปัญหาพูดช้าได้ค่ะ

ภาษาเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของลูกในอนาคต ดังนั้น อย่าลืมให้เวลากับลูกและพูดคุยกับลูกมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆ ของลูกให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นอีกด้วยค่ะ


คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอยากเช็กพัฒนาการทางด้านภาษาของลูก อย่าลืมติดตามต่อได้ในคอลัมน์โตวันโตคืน นิตยสารรักลูกฉบับมกราคม 2554 นะคะ




จาก: นิตยสารรักลูกฉบับที่ 336 เดือน มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น