วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด

เสริมพัฒนาการลูกรักอย่างไร...ให้ตรงจุด
คงไม่มีอะไรที่จะประทับใจ คุณพ่อคุณแม่ เท่ากับการได้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูก ยิ่งเห็นลูกมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมทางสังคมไปเรื่อยๆ ก็คงอดภูมิใจและลุ้นไปด้วยไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ แต่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัยนั้น การเอาใจใส่ที่สอดคล้องกันในทุกๆ ด้าน ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
ร่างกายแข็งแรงที่ซู้ด..ต้องนมแม่เท่านั้น
เป็นวัยที่ลูกน้อยยังต้องหม่ำนมเป็นหลัก ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องให้ดื่มนมแม่จากเต้าค่ะ ทั้งสดและใหม่ คุณค่าครบครัน แถมขณะที่เบบี๋กำลังดูดนม ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (Oxytocin)ในร่างกายของแม่ก็จะเพิ่มระดับขึ้น ทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดี และมีความสุขไปด้วย ซึ่งตามหลักแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกด้วยตนเองได้ถึง 6 เดือน
โดยธาตุอาหารที่อยู่ในน้ำนมนั้นจะให้โปรตีน รวมถึงแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียมเป็นสิ่งสำคัญมาก การดื่มน้ำอุ่นวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว ก็ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอด้วยค่ะ และเมื่อหนูน้อยมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ควรงดให้นมในมื้อดึก เพราะวัยนี้สามารถนอนติดต่อได้นานเวลากลางคืน
เสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวด้วย “ของเล่นชิ้นโปรด”
พอเข้าเดือนที่ 4 หนูน้อยก็พลิกตัวได้สำเร็จครั้งแรก และนั่งได้โดยมีที่พิงด้านหลัง คุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการลูกน้อย ด้วยการจับมือดึงให้ลุกขึ้นนั่งบ่อยๆ จะช่วยบริหารหลังและคอของลูกให้แข็งแรงค่ะ พอถึงเดือนที่ 5 ก็สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้แต่ยังไม่ดีนัก และชื่นชอบคว้าของทุกอย่างเข้าปาก คุณแม่ควรเล่นกับลูกด้วยของเล่นสีสันหลากหลาย เพื่อหลอกล่อให้เขาพลิกคว่ำพลิกหงาย
อาจฝึกกระตุ้นการใช้มือ โดยเตรียมของเล่นพวกลูกบอลบล็อก ของเล่นที่บีบและมีเสียง ยางกัด จนอายุหนูได้ 6 เดือน ลูกก็จะเริ่มคืบไปข้างหน้า และใส่เกียร์ถอยหลังได้บ้าง บางครั้งก็พยายามที่จะลุกขึ้นมานั่งแต่ไม่มั่นคงเท่าไหร่ค่ะ ดังนั้น ควรจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของลูก ไม่วางสิ่งของเกะกะ จนเป็นอันตรายต่อลูก
ภาษาพูดกับลูกน้อยที่แม่ควรรู้ไว้
ลูกน้อยในวัย 4 – 6 เดือนนี้ จะเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นค่ะ สามารถหันมองตามเสียงเรียกของคุณพ่อคุณแม่ได้ ชอบฟังเพลง ส่งเสียงพูดคุยอ้อแอ้ และเข้าใจภาษาจากคนรอบข้างมากขึ้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริม ด้วยการพูดคุยกับลูกโดยใช้ภาษาสั้นๆ ง่ายๆ และน้ำเสียงหนักเบาที่น่าดึงดูด โดยขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ไปด้วยก็ได้ เช่น เล่นโยกเยกกับลูก พูดคุยเรียกชื่อทุกครั้งให้เกิดความคุ้นเคย เวลาเล่นของเล่นก็อาจตั้งชื่อให้ด้วย เป็นต้น เป็นการเสริมพัฒนาด้านภาษาของลูกด้วยคำศัพท์ต่างๆ ที่น่าสนใจรอบตัวเขา
เริ่มต้นสอนทักษะการเข้าสังคม
เมื่ออายุย่างเข้า 5 เดือน เขาก็จะเริ่มจับเริ่มสำรวจใบหน้าพ่อแม่ พอเข้าเดือนที่ 6 จะเริ่มจดจำชื่อและคนแปลกหน้าได้ ดังนั้นจะติดคุณแม่เป็นพิเศษ และกลัวคนแปลกหน้า (Stranger anxiety) ไม่ยอมให้อุ้มหรือเข้าใกล้เด็ดขาด ดังนั้น คุณแม่ควรพาลูกออกไปเจอบุคคลอื่นที่ไม่คุ้นเคยบ้างก็ดีค่ะ เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เช่น พาไปจ่ายตลาด เดินเล่นสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวตามบ้านญาติต่างๆ

การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นอกจากส่งเสริมภาวะโภชนาการให้เจริญเติบโตตามวัย และการส่งเสริมการเล่นเพื่อพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้อีกแนวทางหนึ่ง คือ การเล่านิทาน การร้องเพลงกล่อมเด็ก มีผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า การพูดคุย และการร้องเพลงกล่อมเด็กบ่อยๆ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำใหม่ได้เร็ว และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการสมองที่สำคัญ ทำให้เด็กมีความจำและฉลาดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น