วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เล่นคนเดียว สร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ


นับเป็นอีกหนึ่งทักษะชั้นสูงในการฝึกเด็กค่ะ ถึงแม้หลายๆ งานวิจัยจะให้ความสำคัญของการเล่น โดยของเล่นที่วิเศษสุดของเขาก็คือพ่อแม่นั่นเอง แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็ก ต่างก็มีความเห็นว่า เด็กเองก็ควรที่จะมีเวลาเป็นของตนเอง ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ลองทำอะไรเอง แม้ว่าจะผิดจะถูก และหัดการพึ่งตนเอง ฝึกสมาธิ ได้ทำอะไรตามที่ตนเองต้องการทำ โดยไม่มีใครมากวนหรือชี้นำ
ประโยชน์ของการเล่นคนเดียว
ที่สำคัญคือ การที่เด็กได้มีโอกาสทำอะไรเอง และฝึกที่จะเล่นคนเดียวบ้าง ทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองดีขึ้น และมีความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem)   
ในขั้นตอนการพัฒนาการของเด็กปกตินั้น เด็กจะเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีตัวตน และแตกต่างจากพ่อและแม่ ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือน การให้เด็กเล่นคนเดียว เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักตนเอง และเป็นเพื่อนของตนเองได้ เด็กจะไม่รู้สึกเหงา หรือกลัว เมื่อต้องอยู่คนเดียว ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้น และเริ่มออกไปสู่โลกภายนอก เขาจะสามารถหาเพื่อนใหม่ได้เสมอ เพราะเขาชอบที่จะมีเพื่อน ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเหงา ไม่อยากอยู่คนเดียว
เทคนิคง่ายๆ สอนหนูเล่นคนเดียว
การฝึกลูกน้อยให้เล่นคนเดียว นอกจากจะฝึกให้เด็กรู้จักสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองแล้ว ถือเป็นการพัฒนาทักษะสำคัญอีกด้านที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่เด็กจะเฉลียว ฉลาด เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และรู้จักพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยเทคนิคดังต่อไปนี้ค่ะ
  1. เติมกล่องของเล่นด้วยอุปกรณ์ที่สนับสนุนการเล่นสนุกตามลำพัง เช่น ของเล่นเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง การแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์หรือการสมมุติเหตุการณ์ จิ๊กซอว์ ตัวต่อ สีเทียนกับกระดาษ หนังสือภาพ ตุ๊กตา เครื่องครัวเด็กเล่น ล้วนเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมทั้งสิ้นค่ะ สลับสับเปลี่ยนกล่อง หรือเติมของเล่นใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเขาอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจ
  2. ไม่ควรปล่อยปละให้ทีวีเลี้ยงลูกเด็ดขาด เพราะเป็นสื่อสารเพียงด้านเดียว (One - way communication) ควรปิดซะ แล้วพาเด็กไปยังห้องที่เงียบ เปิดกล่องที่เต็มไปด้วยของเล่นแปลกใหม่และเริ่มกระตุ้นให้เขาหยิบมาเล่น ในช่วงแรก คุณแม่ควรเล่นเป็นเพื่อนลูกอย่างใกล้ชิด
  3. หลังจากผ่านไป 2 - 3 ให้ค่อยๆ ลดการมีส่วนร่วมของคุณแม่ลง รวมทั้งเล่นสนุกและพูดคุยกับลูกให้น้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นเฝ้ามองเขาเล่นแทน
  4. ถอยห่างออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมานั่งอ่านหนังสือบนเก้าอี้ แรกทีเดียวหนูน้อยของเราอาจประท้วง แต่แรงต่อต้านจะค่อยๆ ลดลงทีละน้อย เมื่อเขาเริ่มสะดวกใจกับการเล่นคนเดียวมากขึ้น เงยหน้ามองเป็นระยะเพื่อกล่าวชม หรือเดินไปหาเขาเพื่อแสดงท่าทางสนับสนุนค่ะ
  5. เริ่มขอตัวออกจากห้องเป็นระยะเวลาสั้นๆ ขณะหนูน้อยกำลังสนุกกับของเล่นอย่างเต็มที่ โดยคุณอาจอ้างว่า “ขอแม่ไปทำธุระก่อนนะ” หรือ “เดี๋ยวแม่กลับมา” จากนั้นค่อยแวะกลับมาหลังจากเวลาผ่านไปสองสามวินาทีเพื่อกล่าวชมเขาที่สามารถเล่นคนเดียวได้อย่างสงบ ค่อยเพิ่มช่วงเวลาในการออกจากห้องให้นานขึ้น แต่ควรแวะกลับมาทุกครั้งเพื่อให้การสนับสนุน เสริมแรงโดยการกล่าวชมเชย ไม่นานคุณแม่ก็สามารถเดินออกจากห้องและกลับเข้ามาในห้องโดยที่เด็กไม่ทันสังเกตได้ในที่สุดค่ะ

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ไว้คือ ขั้นตอนพัฒนาการของเด็กในแต่ละอายุด้วย เพราะเด็กที่อายุมากขึ้น จะสามารถเล่นเองคนเดียวได้นานมากขึ้น เช่น เด็กอายุ 6 เดือน จะสามารถอยู่คนเดียว ได้ประมาณ 5 นาที เด็กอายุ 1 ขวบ จะเล่นคนเดียวได้ประมาณ 15 นาที พออายุขวบครึ่งจะเพิ่มขึ้นอยู่คนเดียวได้ประมาณ 15 ถึง 20 นาที ขณะที่อายุ 2 ขวบขึ้นไป จะได้ประมาณครึ่งชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น