วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

4 ข้อ .... หยุดพฤติกรรม

4 ข้อ .... หยุดพฤติกรรม“ เรียกร้อง “ ของเด็กยุคใหม่
โดย อาจารย์มาณวิกา สงวนวงศ์

อาจารย์มาณวิกา สงวนวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการสมาคม อนุบาลศึกษาแห่ง ประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนฤมลทิน ธนบุรี ฉบับนี้ อาจารย์มีตัวอย่างพฤติกรรมและวิธีแก้ไขของเด็กยุคใหม่มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ด้วยความ เจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เด็ก ๆ ได้รับสารผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกน้อยนิด จึงทำให้เด็ก ๆ สมัยนี้เรียกร้องอะไรต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญ คือขาดการมองกลับพิจารณาการ กระทำของตนมีส่วนผิดหรือถูกอย่างไร

ที่ถนัดที่สุดของเด็ก ๆ ก็คือ การกล่าวโทษผู้ใหญ่ที่รู้ว่ารักตนมาก ๆ นั่นก็คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง ฯ ล ฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่กินอาหารเพราะปรุงไม่อร่อย เรื่องการมาโรงเรียนสายเพราะแม่ปลุกช้า ทำการบ้านผิดเพราะพ่อไม่มาตรวจทานให้ คะแนนสอบไม่ดีเพราะพ่อแม่ไม่ส่งไปติว เป็นต้น

สำหรับใครที่กำลังเจอปัญหาที่ว่า ลองใช้ขั้นตอนต่อไปนี้หยุดพฤติกรรมเรียกร้อง ของเด็ก ๆ ที่บ้านนะคะ

1. ฝึกให้รู้จัก “ การขอ “ ข้อนี้ทำไม่ยากเพราะเด็ก ๆ ถนัดอยู่แล้ว เพียงแต่การขอจะต้องคำนึงถึง กาลเทศะ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น การพาเด็กไปซูเปอร์มาร์เก็ต เขาจะรู้ทันทีว่ามีอาหารอร่อย ของใช้สวย ๆ มากมาย และเมื่อเข็นรถผ่านชั้นวางของต่าง ๆ มือเล็ก ๆ ก็จะหยิบฉวยของใส่รถเข็นโดยไม่สนใจว่าราคาเท่าไร มีประโยชน์แค่ไหน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้เลยว่าใครเอามาใส่ไว้ในรถเข็น รู้อีกทีก็ตอนชำระเงินแล้ว

ลองปรับเปลี่ยนด้วยการถือแต้มเหนือกว่าดูนะคะ โดยตั้งกติกาก่อนเดินทางว่า ถ้าไปถึงแล้วแม่อนุญาตให้หนูเลือกของได้เพียง หนึ่งอย่างเท่านั้น ( ถ้าโตหน่อยก็คุมเพดานมูลค่าของสินได้อีก ) ถ้าไม่ตกลง จะไม่เอาไปด้วย อย่างนี้เจ้าตัวดีก็จำต้องพยักหน้ายอมรับ และเมื่อไปถึงก็ต้องแน่วแน่ไม่ใจอ่อน เพราะถ้าสำเร็จครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปสบายมากค่ะ

2. ฝึกให้รู้จัก “รอ” คำนี้เป็นคำสั้น ๆ ที่มีความหมายมาก และไม่ค่อยจะมีในพจนานุกรมของเด็กสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะมีแต่คำว่า “ เดี๋ยวนี้ “ “ ต้องให้นะ “

เมื่อเด็กขอสิ่งของ ขนม หรือของใช้ที่อยากได้ คุณควรจะตกลงกันให้เข้าใจว่าการเอ่ยปากขอ ไม่ได้หมายความว่าต้องได้ทันที ขึ้นอยู่กับเวลาและเงินในกระเป๋าด้วย หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่เด็กต้องให้ความเคารพในเหตุผลว่าให้รอถึงเมื่อไร แต่ถ้าบอกเขาไปแล้วก็ต้องรักษาคำพูดให้ตรงเวลาด้วยนะคะ นอกจากจะมีเหตุจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนค่ะ

ยกตัวอย่าง น้องแทนเห็นเพื่อนมีสีแท่งสวยกล่องใหญ่ ก็อยากจะได้บ้าง พอได้ไปเดินห้าง เห็นสีแบบนั้นจึงร้องขอทันที ถ้าหากคุณตามใจเด็กก็จะตัดสินใจซื้อให้

แต่ถ้าเห็นว่า เขายังมีสีกล่องเล็กที่บ้านอยู่เต็มกล่อง จึงยังไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ก็ควรจะบอกลูกว่า “ แม่ก็อยากซื้อให้นะลูก เพียงแต่ลูกยังมีสีกล่องเล็กที่ยังไม่หมด ไว้ลูกใช้ให้หมดก่อน แม่จะซื้อให้นะจ๊ะ “ หรือ “ แม่มีเงินจำกัดนะลูก เดือนนี้จ่ายค่าขนมของลูกไปมากแล้ว เอาไว้ก่อนนะ เดี๋ยวเงินค่าขนมของหนูจะหมดก่อน “ หรือจะใช้ลูกยุให้เก็บเงินค่าขนมของเขาไว้ซื้อเอง โดยคุณออกให้บางส่วนก็ได้ค่ะ

3. ฝึกให้รู้จัก “ รับ “ เมื่อขอแล้ว รอแล้ว พอได้รับของหรือการกระทำใด ๆ ที่พ่อแม่ทำให้แล้ว เด็กก็มีหน้าที่ต้อง “ รับ” อย่างเหมาะสมเริ่มต้นที่การกล่าวขอบคุณ ไหว้อย่างสวยงาม การใช้อย่างคุ้มค่าใช้ของอย่างทะนุถนอม รู้จักเก็บรักษา ไม่ทิ้งขว้าง และหากเขาทำได้ ก็จะได้รับการตอบสนองในทางที่ดี เช่น คำชมเชยและความไว้ใจ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องให้ลูกรับรู้ว่าสิ่งที่เขาร้องขอนั้น พ่อแม่อาจให้ไม่ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งควรพูดคุยอธิบายให้เข้าใจ การฝึก ให้ลูกได้รับความผิดหวังบ้างในเหตุการณ์ที่เหมาะสม จะทำให้เขา “ แกร่ง “ ขึ้น พร้อมที่จะรับมือกับการถูกปฏิเสธได้ดีขึ้นในตอนโต

4. ฝึกให้รู้จัก “ ให้ “ กระบวนการ 4 ขั้นตอนนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดข้อนี้ค่ะ แต่คนที่รู้จัก “ แบ่งปัน “ หรือ “ ให้ “ นั้น ต้องเป็นคนที่ เคยได้รับมาก่อน ถ้าเด็กเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการกดขี่ข่มเหง คงเป็นการยากที่จะให้เด็กคนนั้นรู้จักแบ่งปัน สิ่งของกับผู้อื่นโดยง่าย ตรงกันข้ามกับเด็กที่รับความรัก ความอบอุ่นจากทางบ้านอย่างดี เมื่อเข้าสังคมก็พร้อมที่จะ “ ให้ “ คืนกลับสู่สังคมได้ดีกว่า

“ ขอ “ “ รอ “ “ รับ “ และ “ ให้ “เป็น 4 คำสั้น ๆ ที่มีความหมายใหญ่หลวงนัก เป็น 4 คำที่จะสามารถปลูกฝังในจิตใจเด็ก ๆ ให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์มีค่าในสังคมได้ หากเด็กรู้จักแต่รับโดยไม่รู้จักรอก็จะฝึกนิสัยให้เป็นคนวางโต เมื่อฉันอยากได้อะไรฉันต้องได้ ถ้าเด็กรู้จักแต่การขอ ก็จะกลายเป็นคนที่รู้มาก ห่วงแต่ตนเอง เห็นแก่ตัว โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น

จึงขอฝาก 4 คำที่ล้ำค่าไว้ แด่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่จะร่วมกันช่วยฝึกฝนอบรมให้เด็กของเราเป็นเด็กที่มีจิตใจงามพร้อมต่อไปด้วยนะค่ะ เพราะมีประโยคเตือนใจประโยคหนึ่งที่ ว่า Remember that your child”s character is like good soup. Both are homemade. หมายถึงการรดน้ำพรวนดินเพื่อให้เด็กน้อยเติบโตเป็นคนดีนั้น เริ่มกระบวนการจากที่บ้าน แล้วจึงมาถูกสานต่อที่โรงเรียนเพื่อส่งไปยังสังคมโดยรวมค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น