วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความสำคัญของกิจกรรมวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์เหมาะสมสำหรับเด็กหรือไม่ ?
วิทยาศาสตร์มี ความสำคัญต่อพัฒนาการ อย่างไร ?

การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มีความเหมาะสมสำหรับเด็กในวัยนี้มีธรรมชาติที่อยากรู้ อยากเห็น และสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว วิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กได้รู้จักตนเองและธรรมชาติรอบตัวในแง่มุมที่ถูกต้อง

นักวิชาการและผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มีส่วนส่งเสริมเด็กใน หลายด้านดังนี้
  • ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง (self concept) วิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติและศักยภาพของมนุษย์
  • วิทยาศาสตร์มีผลต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญาสาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การตั้งคำถาม การค้นคว้าและการคาดเดา ล้วนเป็น ข้อมูลความรู้และกระบวนการทางความคิด ที่ส่งเสริมความเจริญงอกงามทางสติปัญญา
  • ทักษะทางวิทยาศาสตร์บางประการ เช่น การแก้ปัญหา (problem solving) เป็นกระบวนการสำคัญสำหรับมนุษย์ ในการดำเนินชีวิต
  • กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม และการใช้ภาษาสื่อสารเนื่องจากกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยส่วนมากอาศัยการทำงาน ร่วมกัน
ขอบข่ายและขอบเขตของวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กคืออะไร ? การนำเสนอสาระควรครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง ?

หัวใจสำคัญของเนื้อหาคือ ครูควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอสาระทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาควรเป็นสิ่งที่เด็กมีความเข้าใจและมีความหมายต่อตัวเลือก โดยเริ่มต้นจากการได้รู้จักตนเอง แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่เรื่องรอบตัว

ตัวอย่างสาระทางวิทยาศาสตร์ที่ครูสามารถเลือกมานำเสนอได้มีดังนี้
    ก) ตนเองและมนุษย์ คุณครูอาจเริ่มต้นด้วยการ นำกระจกขนาดที่เด็กสามารถมองเห็นตนเองได้มาให้เด็กสังเกตดูส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้สังเกตถึงการทำงาน และสมรรถภาพทางร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก รู้จักตนเองดีขึ้น ข) ธรรมชาติศึกษา เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เด็กส่วนใหญ่ให้ความสนใจ การเฝ้าดูลูกปลาเล็กๆว่ายน้ำในขวดโหล หรือการเฝ้าการสังเกตการณ์งอกของเมล็ดถั่ว ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความต้องการที่แตกต่างหรือเหมือนกันของสิ่งมีชีวิตในโลก ค) ปรากฎการณ์ธรรมชาติและสภาพดินฟ้าอากาศ ก็เป็นสิ่งใกล้ตัวซึ่งเด็กๆ ได้มีประสบการณ์อยู่เสมอ ง) ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ และการเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องของน้ำ อากาศ เสียง ฯลฯ นอกจากนั้นยังอาจมีสาระทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ครูสามารถนำเสนอกับเด็กได้แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาส และพึงพิจารณาถึงความเหมาะสมของเนื้อหาว่า เป็นที่สนใจและมีความหมายต่อเด็กหรือไม่
บทบาทของครู
  1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้ครูมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
  2. วางแผนการจัดกิจกรรมและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่สาระและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ กิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ ทราย การผสมสี การระบายสี การดูแลเลี้ยงดูสัตว์ กิจกรรมการสร้างต่างๆ – บล็อกงานไม้ การเตรียมอาหาร การใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย การทดลอง ฯลฯ
  3. จัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่เอื้อต่อการสังเกต ค้นคว้า สงสัย และทดลอง – การจัดมุม วิทยาศาสตร์และมุมธรรมชาติศึกษา
  4. ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการร่วมกิจกรรม เช่น การชักจูงความสนใจด้วยการตั้งคำถามนำ การทำตัวอย่างให้ดูและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น